วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สังสารวัฏ


สังสารวัฏ

วัฏสงสารหรือ สังสารวัฏ หรือ สงสารวัฏ คือภพภูมิที่มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดขึ้นมาในตามหลักของพุทธศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ว่ามีทั้งสิ้น 31 ภูมิด้วยกัน


สังสาร หรือ สงสาร แปลว่า ความท่องเที่ยวไป ในทางพุทธศาสนาหมายถึง การเวียนว่ายตายเกิด มิใช่หมายถึงความรู้สึกหวั่นไหวด้วยความกรุณาเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความทุกข์

สังสารวัฏ แปลว่า ความท่องเที่ยวไปในอาการที่เป็นวัฏฏะ การหมุนวนอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัฏสงสาร

สงสารวัฏ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ของสัตว์โลกด้วยอำนาจกิเลส กรรม วิบาก หมุนวนอยู่เช่นนั้นตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้ [1] [2]



รูปภวจักร หรือสังสารจักรของทิเบต แสดงถึงผลของการขาดปัญญาในการรู้ทันเหตุเกิดแห่งทุกข์ (สมุทัย) ทำให้ต้องจมเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกองทุกข์ทั้งปวงไม่จบสิ้น
ดูบทความหลักที่: นรกภูมิ
นรกภูมิตามความเชื่อทางศาสนา ประกอบด้วยมหานรก เป็นนรกขุมหลัก มี 8 ขุม แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 15,000 โยชน์จากนั้นจะมี ยมโลกนรก 320 ขุม อยู่รอบ 4 ทิศๆ ละ 10 ของมหานรกแต่ละขุม อุสสทนรก 128 ขุม อยู่รอบๆ 4 ทิศ ๆ ละ 4 ของมหานรกแต่ละขุม และนรกขุมที่ลึกที่สุดเรียกว่าโลกันตนรก เป็นนรกขุมใหญ่ อยู่นอกจักรวาล มืดมนไม่มีแสง มองไม่เห็นอะไรเลยและเต็มไปด้วยทะเลน้ำกรดเย็น ที่ตั้งอยู่ระหว่างโลกจักรวาล 3 โลก เหมือนกับวงกลม 3 วงติดกัน บริเวณช่องว่างของวงทั้ง 3 สัตว์นรกที่มาเกิดต้องรับทุกขเวทนาเป็นเวลา 1 พุทธันดร จากผลกรรมชั่ว เช่น ทรมานประทุษร้ายต่อบิดามารดา และผู้ทรงศีล ทรงธรรมหรือทำปาณาติบาต เป็นอาจิณ ฆ่าตัวตาย เป็นต้น

มหานรก 8 ขุม ประกอบด้วย

สัญชีวมหานรก

นรกที่สัตว์นรกอายุ 500 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีจิตใจที่อำมหิต ไร้มนุษยธรรม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ปราณี เบียดเบียน ประทุษร้ายผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์
กาฬสุตตมหานรก นรกที่ลงโทษด้วยเส้นเชือกสีดำ แล้วก็ถากหรือตัดด้วยเครื่องประหาร อายุ 1,000 ปี อายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 36 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ เป็นคนโหดร้าย มีใจบาป จับเอาสัตว์สี่เท้ามาแล้วตัด เท้าหน้า, เท้าหลัง, หู, จมูก, ปาก ทำให้สัตว์ลำบากทุกข์ทรมานหรือเผาป่าหรือเคยประทุษร้ายต่อบุพการีผู้บังเกิดเกล้า บิดา มารดา ครู ผู้มีพระคุณ
สังฆาฏมหานรก 
นรกที่มีภูเขาเหล็กใหญ่มีไฟลุกโพลงบดขยี้สัตว์นรก อายุ 2,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 145 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาปหยาบช้าด้วยอกุศลกรรม ไร้ความเมตตากรุณา ทารุณกรรมสัตว์ ฆ่าสัตว์เป็นประจำ
โรรุวมหานรก
นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังของสัตว์นรกที่ถูกควันไฟอบอ้าว อายุ 4,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 576 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาปหยาบช้าจับเอาสัตว์เป็น ๆ มาเผาหรือปิ้งให้สุกแล้วกินอาหารอยู่เนืองนิตย์ บางคนเคยเป็นตุลาการพิพากษาความยุติธรรม ด้วยอำนาจ โลภ โกรธ หลง เห็นแก่สินจ้าง บางคนเป็นบุคคลที่โลภมาก รุกบ้านเรือกสวนไร่นาของผู้อื่นมาเป็นของตน บางคนเคยคบหาภรรยาของคนอื่น แล้วฆ่าสามีของเขาเพื่อเอาภรรยามาเป็นของตน บางคนเคยคบหาสามีของคนอื่น แล้วฆ่าภรรยาของเขาเพื่อเอาสามีมาเป็นของตน บางคนขโมยสิ่งของที่เขานำมาถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นของตน
มหาโรรุวมหานรก
นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ครวญครางดังกว่าโรรุวนรก อายุ 8,000 ปีอายุกัป (1 วันนรกเท่ากับ 2,304 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาป โหดร้ายอำมหิต ตัดศีรษะมนุษย์หรือสัตว์
ตาปนมหานรก นรกที่ทำให้สัตว์เร่าร้อน ด้วยการให้นั่งตรึงติดอยู่ในหลาวเหล็กอันร้อนแดง แล้วให้ไฟไหม้อยู่ อายุ 16,000 ปีอายุกัป (1 วันนรก 9,216 ล้านปีมนุษย์) สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ มีใจบาป เช่น เป็นนายพรานประหารสัตว์ ทิ่มแทงด้วยหอกหลาวแล้วเอาเนื้อมากิน
มหาตาปนมหานรก
นรกที่เต็มไปด้วยความเร่าร้อนอย่างมากมายเหลือประมาณ อายุ ครึ่งอันตรกัปของมนุษย์ สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ ประหารคนหรือสัตว์ให้ตายเป็นหมู่
อเวจีมหานรก นรกที่ปราศจากคลื่นคือความบางเบาแห่งความความทุกข์ อายุ ประมาณ 1 อันตรกัปของมนุษย์ สาเหตุที่ตกขุมนี้ คือ ฆ่าบิดาให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ฆ่ามารดาให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ฆ่าพระอรหันต์ให้ตายหรือใช้ให้คนอื่นฆ่า , ทำร้ายพระพุทธเจ้า , ยุยงให้พระสงฆ์แตกแยกกัน

ยมโลกนรก ประกอบด้วย

โลหกุมภีนรก
เป็นหม้อเหล็กขนาดใหญ่เท่าภูเขา เต็มไปด้วยน้ำแสบร้อนเดือดพล่านตลอดเวลา สัตว์นรกถูกต้มเคี่ยวในหม้อเหล็กนรกนั้นจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วที่ตนได้ทำมา
สิมพลีนรก เต็มไปด้วยป่างิ้วนรก มีหนามแหลมคมเป็นกรดลุกเป็นเปลวไฟอยู่เสมอ สัตว์นรกที่มาเกิดต้องปีนป่ายต้นงิ้ว
อสินขะนรก
สัตว์นรกที่เกิดมามีรูปร่างแปลกพิกล เช่น เล็บมือเล็บเท้าแหลมยาว กลับกลายเป็นอาวุธ หอก ดาบ จอบ เสียม เอาเล็บมือถากตะกุยเนื้อหนังของตนกินเป็นอาหารตลอดเวลา
ตามโพทะนรก มีหม้อเหล็กต้มน้ำทองแดงปนด้วยหินกรวด ร้อนระอุตลอดเวลา สัตว์นรกโดยการถูกกรอกด้วยน้ำทองแดง และกรวดหินเข้าไปทางปาก
อโยคุฬะนรก เต็มไปด้วยก้อนเหล็กแดงเกลื่อนกลาดไปหมด สัตว์นรกเห็นก้อนเหล็กแดงเป็นอาหาร เมื่อกินเข้าไปแล้วเหล็กแดงนั้นก็เผาไหม้ไส้พุง
ปิสสกปัพพตะนรก
มีภูเขาใหญ่ 4 ทิศ เคลื่อนที่ได้ไม่หยุดหย่อน กลิ้งไปมาบดขยี้สัตว์นรกที่มาเกิดให้บี้แบนกระดูกแตกป่นละเอียดจนตายแล้วฟื้นขึ้นมาอีก ถูกบดขยี้อีกจนตายเรื่อยไป
ธุสะนรก สัตว์นรกที่มาเกิดมีความกระหายน้ำมาก เมื่อพบสระมีน้ำใสสะอาดก็ดื่มกินเข้าไป น้ำนั้นกลายเป็นแกลบ เป็นข้าวลีบลุกเป็นไฟเผาไหม้ท้องและลำไส้
สีตโลสิตะนรก
เต็มไปด้วยน้ำเย็นยะเยือก เมื่อสัตว์นรกที่มาเกิดตกลงไปก็จะตายฟื้นขึ้นมาก็ถูกจับโยนลงไปอีกเรื่อยไป
สุนขะนรก เต็มไปด้วยสุนัขนรก และยังมีฝูงแร้งกา นกตะกรุม สัตว์นรกที่เกิดจะถูกสุนัข แร้ง กา ไล่ขบกัด ตรงลูกตา ปากและส่วนต่างๆ
ยันตปาสาณะนรก
มีภูเขาประหลาด 2 ลูก เคลื่อนกระทบกันตลอดเวลา สัตว์นรกที่มาเกิดจะถูกภูเขาบีบกระแทก ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ตายแล้วก็กลับเป็นขึ้นมา

อุสสทนรก ประกอบด้วย

คูถนรก
สัตว์นรก อยู่ในนรกอุจจาระเน่า ถูกหนอนกัดกินทั้งเนื้อและกระดูกตลอดจนอวัยวะภายในทั้งหมด จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
กุกกุฬนรก สัตว์นรกถูกเผาด้วยขี้เถ้าร้อนระอุ ร่างกายไหม้ยับย่อยละเอียดเป็นจุณ จนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน
สิมปลิวนนรก
สัตว์นรกที่ยังมีเศษอกุศลกรรมเหลืออยู่ เมื่อพ้นจากนรกขี้เถ้าร้อนแล้วต้องเสวยทุกข์จากนรกป่าไม้งิ้วต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่ว
อสิปัตตวนนรก
สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากป่าไม้ใบดาบ เช่น ใบมะม่วงซึ่งกลายเป็นหอกดาบ และมีสุนัข แร้งคอยทรมานขบกัดกินเลือดเนื้อจนกว่าจะสิ้นกรรม
เวตรณีนรก
สัตว์นรกที่มาเกิดได้รับทุกข์จากน้ำเค็มแสบ ที่มีเครื่องหวายหนามเหล็ก ใบกลีบบัวหลวงเหล็ก ตั้งอยู่กลางน้ำ ซึ่งคมเป็นกรด มีเปลวไฟลุกโชนตลอดเวลาจนกว่าจะสิ้นกรรมชั่วของตน

ติรัจฉานภูมิ
(โลกเดรัจฉานอยู่ในโลกมนุษย์) เดรัจฉาน โลกของสัตว์ที่มีความยินดีในเหตุ 3 ประการ คือ การกิน การนอน การสืบพันธุ์ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ อปทติรัจฉาน (ไม่มีเท้า ไม่มีขา) เช่น งู ปลา ไส้เดือน ฯลฯ ทวิปทติรัจฉาน (มี 2 ขา) เช่น นก ไก่ ฯลฯ จตุปทติรัจฉาน (มี 4 ขา) เช่น วัว ควาย ฯลฯ พหุปทติรัจฉาน (มีมากกว่า 4 ขา) เช่น ตะขาบ กิ้งกือ ฯลฯ อายุ ไม่แน่นอน แล้วแต่กรรมที่นำไปเกิดในสัตว์ประเภทต่างๆ ตามอายุขัยของสัตว์ประเภทนั้นๆ บุพกรรม เป็นมนุษย์จิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอกุศลกรรมอันหยาบช้าลามกทั้งหลาย หรือเพราะอำนาจของเศษบาปอกุศลกรรมที่ตนทำไว้ให้ผล หรือเป็นเพราะเมื่อเป็นมนุษย์ ไม่ได้ก่อกรรมทำชั่วอะไร แต่เวลาใกล้จะตายจิตประกอบด้วยโมหะ หลงผิด ขาดสติ ไม่มีสรณะเป็นที่พึ่งจะยึดให้มั่นคง คตินิมิต นิมิตที่ชี้บอกถึงโลกเดรัจฉานที่ตนจะไป เช่น เห็นเป็นทุ่งหญ้า ป่าไม้ ดงหญ้า เชิงเขา ชายน้ำ แม่น้ำกอไผ่ และภูเขา เป็นต้น บางทีเห็นเป็นรูปสัตว์ทั้งหลาย เช่น ช้าง เสือ วัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ แร้ง กา เหี้ย นก หนู จิ้งจก ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจแล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์เมื่อดับจิตตายขณะนั้นต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างแน่นอน


เปตติวัสยภูมิ (โลกเปรต)
โลกที่อยู่ของสัตว์ผู้ห่างไกลจากความสุข มีมหิทธิกเปรตเป็นเจ้าปกครองดูแล อายุ ไม่แน่นอนแล้วแต่กรรม ได้แก่ เปรต 12 ชนิด คือ

1. วันตาสเปรต กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร

2. กุณปาสเปรต กินซากศพคน หรือสัตว์เป็นอาหาร

3. คูถขาทกเปรต กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร

4. อัคคิชาลมุขเปรต มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ

5. สูจิมุขาเปรต มีปากเท่ารูเข็ม

6. ตัณหัฏฏิตเปรต ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าว หิวน้ำอยู่เสมอ

7. สุนิชฌามกเปรต มีลำตัวดำเหมือนตอไม้เผา

8. สัตถังคเปรต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมเหมือนมีด

9. ปัพพตังคเปรต มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา

10. อชครังคเปรต มีร่างกายเหมือนงูเหลือม

11. เวมานิกเปรต ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน

12. มหิทธธิกเปรต มีฤทธิ์มาก ที่อยู่ เชิงภูเขาหิมาลัยในป่าวิฌาฏวี

เปรต 4 ประเภท คือ

1. ปรทัตตุปชีวิกเปรต มีการเลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้(รอบุญอุทิศ)

2. ขุปปิปาสิกเปรต ถูกเบียดเบียนด้วยการหิวข้าว หิวน้ำ

3. นิชฌามตัณหิกเปรต ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

4. กาลกัญจิกเปรต (ชื่อของอสูรกายที่เป็นเปรต) มีร่างกายสูง 3 คาวุต มีเลือดและเนื้อน้อยไม่มีแรง มีสีสันคล้ายใบไม้แห้ง ตาถลนออกมาเหมือนตาปู และมีปากเท่ารูเข็มตั้งอยู่กลางศีรษะ เปรต 21 จำพวก คือ

มังสเปสิกเปรต มีเนื้อเป็นชิ้นๆ ไม่มีกระดูก

กุมภัณฑ์เปรต มีอัณฑะใหญ่โตมาก

นิจฉวิตกเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

ทุคคันธเปรต มีกลิ่นเหม็นเน่า

อสีสเปรต ไม่มีศีรษะ

ภิกขุเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ

สามเณรเปรต มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร ฯลฯ

บุพกรรม ประพฤติอกุศลกรรมบถ 10 ประการ เมื่อขาดใจตาย จากมนุษย์โลก หากอกุศลกรรมสามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ต้องไปเสวยทุกข์โทษในนรกก่อน พอสิ้นกรรมพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปยังมีก็ไปเสวยผลกรรมเป็นเปรตต่อภายหลัง หรือมีอกุศลกรรมที่เกิดจากโลภะนำมาเกิด คตินิมิต นิมิตที่บ่งบอกถึงโลกเปรต เช่น เห็นหุบเขา ถ้ำอันมืดมิดที่วังเวงและปลอดเปลี่ยว หรือเห็นเป็นแกลบและข้าวลีบมากมาย แล้วรู้สึกหิวโหยและกระหายน้ำเป็นกำลัง บางทีเห็นว่าตนดื่มกินเลือดน้ำหนองที่น่ารังเกียจสะอิดสะเอียน หรือเห็นเป็นเปรตมีร่างกายผ่ายผอมน่าเกลียดน่ากลัว เนื้อตัวสกปรก รกรุงรัง ฯลฯ หากภาพเหล่านี้มาปรากฏทางใจแล้วจิตยึดหน่วงเป็นอารมณ์ เมื่อดับจิตตายขณะนั้น ต้องบังเกิดเป็นเปรตเสวยทุกขเวทนาตามสมควรแก่กรรมอย่างแน่นอน

อสุรกายภูมิ (โลกอสุรกาย)

ภูมิอันเป็นที่อยู่ของสัตว์อันปราศจากความเป็นอิสระและสนุกรื่นเริง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เทวอสุรา เปตติอสุรา นิรยอสุรา เทวอสุรา มี 6 จำพวก คือ 1. เวปจิตติอสุรา 2. สุพลิอสุรา 3. ราหุอสุรา 4. ปหารอสุรา 5. สัมพรตีอสุรา 6. วินิปาติกอสุรา 5. จำพวกแรกเป็นปฏิปักษ์ต่อเทวดาชั้นตาวติงสา อยู่ใต้ภูเขาสิเนรุ สงเคราะห์เข้าในพวกเทวดาชั้นตาวติงสา ส่วน วินิปาติกอสุรา มีรูปร่างสัณฐานเล็กกว่า และอำนาจน้อยกว่าเทวดาชั้นตาวติงสา เที่ยวอาศัยอยู่ในมนุษย์โลกทั่วไป เช่น ตามป่า ตามเขา และศาลที่เขาปลูกไว้ ซึ่งเป็นที่อยู่ของภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลาย แต่เป็นเพียงบริวารของภุมมัฏฐเทวดาเท่านั้น สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดา ชั้นจาตุมหาราชิกา เปตติอสุรา มี 3 จำพวก คือ 1. กาลกัญจิกเปรตอสุรา 2. เวมานิกเปรตอสุรา 3. อาวุธิกเปรตอสุรา เป็นเปรตที่ประหัตประหารกันและกันด้วยอาวุธต่างๆ นิรยอสุรา เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ในนรกโลกกันตร์ นรกโลกกันตร์ตั้งอยู่ระหว่างกลางของจักรวาลทั้งสาม อสุรกายนี้หมายเอาเฉพาะกาลกัญจิกเปรตรอุสรกายเท่านั้น อายุและบุพกรรม เช่นเดียวกันกับโลกเปรต


เทวภูมิ 6 กับโลกมนุษย์ 1 (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 42,000 โยชน์)

โลกมนุษย์

มนุษยภูมิ เป็นที่อาศัยของสัตว์ผู้มีใจสูงในเชิงกล้าหาญที่จะประกอบกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม แบ่งเป็น 4 จำพวก คือ

1. ผู้มืดมาแล้วมืดไป บุคคลที่เกิดในตระกูลอันต่ำ ยากจน ขัดสน ลำบาก ฝืดเคืองอย่างมากในการหาเลี้ยงชีพ มีปัจจัย 4 อย่างหยาบ เช่น มีอาหารและน้ำน้อย มีเครื่องนุ่งห่มเก่า ร่างกายมอซอ หม่นหมองหรือมีร่างกายไม่สมประกอบ บ้าใบ้ บอด หนวก หาที่นอน ที่อยู่อาศัย ยากรักษาโรค ไม่ใคร่ได้ และเขากลับประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย

2. ผู้มืดมาแล้วสว่างไป บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ผิวพรรณหยาบ ฯลฯ แต่เขาเป็นคนมีศรัทธา ไม่มีความตระหนี่ เป็นคนมีความดำริประเสริฐ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน ย่อมลุกรับสมณะชีพราหมณ์ หรือวณิพกอื่นๆ ย่อมสำเหนียกในกริยามารยาทเรียบร้อย ไม่ห้ามคนที่กำลังจะให้ทาน เมื่อตายไปย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์

3. ผู้สว่างมาแล้วมืดไป เป็นบุคคลผู้อุบัติเกิดในตระกูลสูง เป็นคนมั่งคั่งมั่งมี มีโภคสมบัติมาก เป็นผู้มีปัจจัย 4 อันประณีต ทั้งเป็นคนรูปร่างสมส่วน สะสวย งดงาม ผิวพรรณดูน่าชม แต่กลับเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ กรุณาอาทร มีใจหยาบช้า มักขึ้งโกรธ ย่อมด่า ย่อมบริภาษบุคคลต่างๆ ไม่เว้นแม่กระทั่งมารดาบิดา สมณะชีพราหมณ์ ย่อมห้ามคนที่กำลังให้โภชนาหารแก่คนที่ขอ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงทุคติอบาย

4. ผู้สว่างมาแล้วสว่างไป เป็นบุคคลที่อุบัติเกิดในตระกูลสูง มีผิวพรรณงามและเขาย่อมประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

แบ่งออกเป็นสี่ทวีป หรือสี่มิติ ได้แก่ ๑.ชมพูทวีป ๒. อุตตรกุรุทวีป ๓. บุพพวิเทหะ ๔.อมรโคยาน

บุพกรรม กรรมของมนุษย์ที่ทำในกาลก่อน ส่งผลให้มีปฏิปทาต่างกัน เช่น บางคนเป็นคนดี บางคนบ้า บางคนรวย บางคนจน บางคนมีปัญญา บางคนเขลา ฯลฯ เพราะเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิ ปฏิปทาให้มีอายุสั้น เพราะเป็นคนโหดเหี้ยมดุร้าย มักคร่าชีวิตสัตว์ ปฏิปทาให้มีอายุยืน เป็นผู้เว้นขาดจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป มีความละอาย เอ็นดูอนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลสรรพสัตว์และภูติอยู่ ปฏิปทามีโรคมาก เป็นผู้มีปกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ ท่อนไม้ ก้อนดิน ก้อนหิน หรือศาสตราอาวุธต่างๆ ปฏิปทามีโรคน้อย ไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยมือ หรือศาสตราอาวุธต่างๆ มีมีด ขวาน ดาบ ปืน เป็นต้น ปฏิปทาให้มีผิวพรรณทราม เป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจโกรธเคือง พยาบาทมาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ปฏิปทาให้มีผิวพรรณงาม เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธความร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฏ ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดาน้อย คือเป็นคนมีใจริษยา มุ่งร้าย ผูกใจในการอิจฉาริษยาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการาบูชาของคนอื่น ปฏิปทาให้เป็นคนมีศักดามาก เป็นคนไม่มีใจริษยา ไม่มุ่งร้าย ยินดีด้วยในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้และการบูชาของคนอื่น ปฏิปทาให้มีโภคะน้อย เป็นผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ที่นอนที่อาศัย เป็นต้น ปฏิปทาให้มีโภคะมาก ชอบให้ทาน มีอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ของหอม ที่นอนที่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือชีพราหมณ์ เป็นต้น ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่ควรให้ ไม่ให้ทางแก่คนที่ควรให้ทาง เป็นต้น ปฏิปทาให้เกิดในตระกูลสูง เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน วจีไพเราะ สงเคราะห์เอื้อเฟื้อ รู้จักยืนเคารพ ยืนรับ ยืนคำนับ ผู้เฒ่า ผู้ใหญ่ สักการะแก่คนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เป็นต้น ปฏิปทาทำให้มีปัญญาทราม คือ เป็นผู้ไม่เคยเข้าไปหาบัณฑิต สมณะหรือชีพราหมณ์แล้วสอบถามว่าอะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ เป็นต้น ปฏิปทาทำให้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มักเข้าไปสอบถาม บัณฑิตสมณะหรือชีพราหมณ์ แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรเมื่อทำลงไปแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์สิ้นกาลนาน อะไรเมื่อทำไปแล้วย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน ดังนี้

เทวภูมิ 6

จาตุมหาราชิกาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 1)

เป็นที่อยู่ของเทพยดาชาวฟ้า มีท้าวมหาราช 4 พระองค์ปกครอง คือ
ท้าวธตรฐมหาราช
ท้าววิรุฬหกมหาราช
ท้าววิรูปักษ์มหาราช
ท้าวเวสสุวัณมหาราช (ท้าวกุเวร) อายุ 500 ปีทิพย์ (9 ล้านปีมนุษย์)
บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ ชอบทำความดี สันโดษ ยินดีแต่ของๆ ตน ชักชวนให้ผู้อื่นประกอบการกุศล ชอบให้ทาน ในการให้ทาน เป็นผู้มีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทานให้ทานด้วยความคิดว่า “เราตายแล้วจักได้เสวยผลแห่งทานนี้” และเป็นผู้มีศีล ฯลฯ

ตาวติงสาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 2)

ที่เรียกว่าไตรตรึงษ์หรือดาวดึงส์ เป็นเมืองใหญ่มี 1,000 ประตู มีพระเกศจุฬามณีเจดีย์ มีไม้ทิพย์ ชื่อ ปาริชาตกัลปพฤกษ์ สมเด็จพระอมรินทราธิราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 1,000 ปีทิพย์ (36 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์ มีจิตบริสุทธิ์ยินดีในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มีการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “ตายแล้วเราจักได้เสวยผลทานนี้” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำดี” งดงามด้วยพยายามรักษาศีล ไม่ดูหมิ่นผู้ใหญ่ในตระกูล ฯลฯ

ยามาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 3)

เป็นที่อยู่ของเทพยดาผู้มีแต่ความสุขอันเป็นทิพย์ มีท้าวสุยามเทวราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 2,000 ปีทิพย์ (144 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ พยามสร้างเสบียง ไม่หวั่นไหวในการบำเพ็ญบุญกุศล ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “การให้ทานเป็นการกระทำที่ดี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี” รักษาศีล มีจิตขวนขวายในพระธรรม ทำความดีด้วยใจจริง

ตุสิตาภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 4)

เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้มีความยินดีแช่มชื่นเป็นนิจ มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง อายุ 4,000 ปีทิพย์ (576 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ ยินดีมากในการบริจาคทาน ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนา หรือเป็นพระโพธิสัตว์รู้ธรรมมาก ฯลฯ

นิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 5)

เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าผู้ยินดีในกามคุณอารมณ์ ซึ่งเนรมิตขึ้นมาตามความพอใจ มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง อายุ 8,000 ปีทิพย์ (2,304 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตใจบริสุทธิ์ ยินดียิ่งในการบริจาคทาน ในการให้ทานเป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทาน ด้วยความคิดว่า “เราหุงหากินได้ แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักจำแนกแจกท่านเช่นเดียวกับฤๅษีทั้งหลายในกาลก่อน” ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ พยามรักษาศีลไม่ให้ขาดได้ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยะอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้

ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ (สวรรค์ ชั้นที่ 6)

เป็นที่อยู่ของเทพเจ้าซึ่งเสวยกามคุณอารมณ์ แบ่งเป็น ฝ่ายเทพยดา มีท้าวปรนิมมิตเทวราช ปกครอง กับ ฝ่ายมารมีท้าวปรนิมิตวสวัตตีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง อายุ 16,000 ปีทิพย์ (9,216 ล้านปีมนุษย์) บุพกรรม เมื่อเป็นมนุษย์มีจิตบริสุทธิ์ อุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฎ์ อบรมจิตใจสูงส่งไปด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีลก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไปด้วยความศรัทธาปสาทะอย่างยิ่งยวดถูกต้อง ในการให้ทาน เป็นผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไมได้ให้ทานด้วยความคิดว่า “เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤๅษีทั้งหลายแต่กาลก่อน” แต่ให้ทานด้วยความคิดว่า “เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส” เพราะวิบากแห่งทาน และศีลอันสูงส่งยิ่งเท่านั้น จึงอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้
ปฐมฌานภูมิ 3 ทุติยฌานภูมิ 3 ตติยฌานภูมิ 3 และ พรหมภูมิตั้งแต่ชั้นที่ 10 – 20 (แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 5,508,000 โยชน์) • อสงไขยปีเท่ากับ เลข 1 ตามด้วยเลขศูนย์อีก 140 ตัว • 1 รอบอสงไขยปี เท่ากับ 1 อันตรกัป

พรหมปาริสัชชาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 1
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหม ผู้เป็นบริษัทท้าวมหาพรหม พระพรหม อายุ 21 อันตรกัปเศษ บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างสามัญ

พรหมปุโรหิตาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 2 
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ทรงฐานะอันประเสริฐ คือเป็นปุโรหิตของท่านมหาพรหม พระพรหม อายุ 32 อันตรกัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จได้ปฐมฌานอย่างปานกลาง

มหาพรหมาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 3
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย พระพรหม อายุ 1 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จปฐมฌานได้อย่างประณีต

ปริตตาภาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 4
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งท่านพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีน้อยกว่าพระพรหมที่ศักดิ์สูงกว่าตน พระพรหม อายุ 2 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จทุติยฌานได้อย่างสามัญ

อัปปมาณาภาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 5
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีรัศมีรุ่งเรืองมากมายหาประมาณมิได้ พระพรหม อายุ 4 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างปานกลาง

อาภัสราภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 6
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีประกายรุ่งโรจน์แห่งรัศมีนานาแสง พระพรหม อายุ 8 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จทุติยฌานได้อย่างประณีต

ปริตตสุภาภูมิ

พรหมโลกชั้นที่ 7
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงามแห่งรัศมีเป็นส่วนน้อย พระพรหม อายุ 16 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จตติยฌานได้อย่างสามัญ

อัปปามาณสุภาพภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 8
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสวยงามแห่งรัศมีมากมายไม่มีประมาณ พระพรหม อาย 32 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างปานกลาง

สุภกิณหาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 9
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้มีความสง่าสวยงาม แห่งรัศมีที่ออกสลับปะปนไปอยู่เสมอตลอดสรีระกาย พระพรหม อายุ 64 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่จะมาอุบัติบังเกิดในชั้นนี้ได้ ต้องสำเร็จตติยฌานได้อย่างประณีต

เวหัปผลาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 10
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ได้รับผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์ พระพรหม อายุ 500 มหากัป บุพกรรม ผู้ที่เจริญสมถภาวนาสำเร็จ จตุตถฌาน

อสัญญสัตตาภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 11
ภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมทั้งหลาย ผู้ไม่มีสัญญา (พรหมลูกฟัก) อายุ 500 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาสำเร็จจตุตฌาน และเป็นผู้มีสัญญาวิราคภาวนา(ยึดมั่นว่ารูปมีสาระ นามไม่มีสาระ)เหลือเพียงหนึ่งขันธ์คือรูปขันธ์ ไม่มีนามขันธ์ทั้งสี่(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

อวิหาสุทธาวาสภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 12
ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามี อริยบุคคลทั้งหลายผู้ไม่เสื่อมคลายในสมบัติของตน พระพรหมอนาคามี อายุ 1,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอาริยบุคคล โดยมีสัทธินทรีย์แก่กล้า

อตัปปาสุทธาวาสภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 13
ภูมิอันเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีความเดือดร้อน พระพรหมอนาคามี อายุ 2,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตตุถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีวิริยินทรีย์แก่กล้า

สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 14
ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใส พระพรหมอนาคามี อายุ 4,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยมีสตินทรีย์แก่กล้า

สุทัสสิสุทธาวาสภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 15
ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอาริยบุคคลทั้งหลาย ผู้มีความเห็นอย่างแจ่มใสมากกว่า พระพรหมอนาคามี อายุ 8,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุตถฌาน และเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคลโดยสมาธินทรีย์แก่กล้า

อกนิฎฐาสุทธาวาสภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 16
ภูมิเป็นที่อยู่อันบริสุทธิ์แห่งพระอนาคามีอริยบุคคลทั้งหลาย ผู้ทรงคุณวิเศษโดยไม่มีความเป็นรองกัน พระพรหมอนาคามี อายุ 16,000 มหากัป บุพกรรม ผู้เจริญสมถภาวนาได้จตุถฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสำเร็จ เป็นพระอนาคามีอริยบุคคล โดยมีปัญญินทรีย์แก่กล้า

อากาสานัญจายตนภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 17
ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยอากาสบัญญัติ ซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 20,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้จตุตถฌานแล้ว และสำเร็จอากาสานัญจายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์

วิญญาณัญจายตนภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่18
ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยวิญญาณอันไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 40,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้ได้อากาสานัญจายตนฌานและสำเร็จวิญญาณัญจายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์

อากิญจัญญายตนภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 19
ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยนัตถิภาวนาบัญญัติเป็นอารมณ์ อรูปพรหม อายุ 60,000 มหากัป บุพกรรม เป็นโยคีฤๅษีผู้วิญญาณัญจายตนฌานและสำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์

เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

พรหมโลก ชั้นที่ 20
ภูมิเป็นที่อยู่แห่งพระพรหมผู้วิเศษ ผู้เกิดจากฌานที่อาศัยความประณีตเป็นอย่างยิ่งมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ อรูปพรหม อายุ 84,000 มหากัป บุพกรรม โยคีฤๅษีผู้ได้อากิญจัญญายตนฌานและสำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตฌาน มี่นามขันธ์สี่ แต่ไม่รูปขันธ์

โสดาบันโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 1)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลโสดาบัน แบ่งเป็น

1. เอกพิชีโสดาบัน จะเกิดอีกชาติเดียว แล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน

2. โกลังโกละโสดาบัน จะเกิดอีก 2-6 ชาติ เป็นอย่างมากแล้วก็บรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน

3. สัตตักขัตตุปรมะโสดาบัน จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน 7 ชาติ แล้วบรรลุพระอรหัตผล ปรินิพพาน


สกทาคามีโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 2)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลสกทาคามี ซึ่งจะเกิดอีกเพียงชาติเดียว แบ่งเป็น 5 ประเภทคือ

1. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลก และบรรลุอรหัตผลในมนุษย์โลก

2. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้วไปบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก

3. ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหัตผลในเทวโลก

4. ผู้ถึงภูมินี้ในเทวโลกแล้วมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก

5. ผู้ถึงภูมินี้ในมนุษย์โลกแล้วจุติไปเกิดในเทวโลกแล้วกลับมาบรรลุพระอรหัตผลในมนุษย์โลก

อนาคามีโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นที่ 3)

ผู้ถึงภูมินี้ได้ชื่อว่าพระอนาคามี จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีก แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

1. อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสภูมิพรหมโลกที่สถิตอยู่

2. อุปหัจจปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสภมิพรหมโลกที่สถิตอยู่

3. อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลกที่สถิตอยู่โดยสะดวกสบายไม่ต้องใช้ความเพียรมาก

4. สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในพรหมโลก โดยต้องพยายามอย่างแรงกล้า

5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก ชั้นต่ำที่สุด (อวิหาสุทธาวาสพรหมโลก) แล้วจึงจุติไปเกิดชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในอกนิฏฐพรหมโลก

อรหัตโลกุตตรภูมิ (ภูมิพ้นโลก ชั้นสูงสุด)

มี 2 ประเภท

1. เจโตวิมุตติ เป็นผู้ปฏิบัติสมถกรรมฐานได้ฌานก่อน แล้วเจริญวิปัสนากรรมฐานต่อจนสำเร็จพระอรหันต์ หรือ ผู้ที่ปฏิบัติเฉพาะวิปัสนากรรมฐาน เมื่อได้มรรคผลนั้นพร้อมกับได้วิชชา 3 อภิญญา 6 สามารถแสดงฤทธิ์ได้

2. ปัญญาวิมุตติ สำเร็จพรอรหันต์ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานล้วน ๆ ไม่ได้บำเพ็ญสมถกรรมฐานมาก่อนเลย เรียกว่า สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ คือ ผู้ปฏิบัติทำให้ฌานแห้งแล้ง ผู้ถึงภูมินี้ เป็นผู้ที่สมควรแก่การบูชาของเหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะสิ้นกิเลสโดยตัดสังโยชน์ 10 ประการได้ สามารถเข้าอรหัตผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามปรารถนา และไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกในวัฏสงสาร เมื่อถึงอายุขัยก็ดับขันธ์ปรินิพพาน

*อ้างอิง
 สมเด็จพระญาณสังวร (สุวัฑฒนมหาเถระ) สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของ ท่านพระสารีบุตรเถระ
 พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548

สังโยชน์10



สังโยชน์10

สังโยชน์ (บาลี: samyojana) คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมในวัฏฏะ มี 10 อย่าง คือ

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่
1. สักกายทิฏฐิ - มีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นของเรา มีความยึดมั่นถือมั่นในระดับหนึ่ง
2. วิจิกิจฉา - มีความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
3. สีลัพพตปรามาส - ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร หรือนำศีลและพรตไปใช้เพื่อเหตุผลอื่น ไม่ใช่เพื่อเป็นปัจจัยแก่การสิ้นกิเลส เช่นการถือศีลเพื่อเอาไว้ข่มไว้ด่าคนอื่น การถือศีลเพราะอยากได้ลาภสักการะเป็นต้น ซึ่งรวมถึงความเชื่อถือในพิธีกรรมที่งมงายด้วย
4. กามราคะ - มีความติดใจในกามคุณ
5. ปฏิฆะ - มีความกระทบกระทั่งในใจ
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่
6. รูปราคะ - มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน
7. อรูปราคะ - มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย
8. มานะ - มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน
9. อุทธัจจะ - มีความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา - มีความไม่รู้จริง

พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส

พระสกทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 คือ กามราคะและปฏิฆะ ให้เบาบางลงด้วย

พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อแรกได้หมด

พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ

*อ้างอิง
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".
พุทธทาสภิกขุ. "ตัวกู-ของกู ฉบับย่อความ". บทที่ 6 วิธีลดอัตตา

พระไตรปิฎก


พระไตรปิฎก

พระไตรปิฎก (บาลี: Tipiṭaka; สันสกฤต: त्रिपिटक) เป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระโคตมพุทธเจ้า[1] ไตรปิฎก แปลว่า ตะกร้า 3 ใบ เพราะเนื้อหาแบ่งเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ คือ

พระวินัยปิฎก ว่าด้วยพระวินัยสิกขาบทต่าง ๆ ของภิกษุและภิกษุณี
พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตรซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระโคตมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ที่แสดงแกบุคคลต่างชั้นวรรณะและการศึกษา ต่างกรรมต่างวาระกัน มีทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง
พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยพระอภิธรรมหรือปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูง อธิบายด้วยหลักวิชาล้วน ๆ โดยไม่อ้างอิงเหตุการณ์และบุคคล
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในยุคแรกเรียกว่าพระธรรมวินัย จนกระทั่งการสังคายนาครั้ง 3 จึงแยกเนื้อที่เกี่ยวกับปรมัตถธรรมออกมาเป็นอีกหมวดหนึ่งเรียกว่าพระอภิธรรมปิฎก

ในศาสนาพุทธยุคแรก แต่ละนิกายต่างมีคัมภีร์เป็นของตนเอง บางนิกายมี 5 ปิฎก บางนิกายมี 7 ปิฎก[2] แต่พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงพระไตรปิฎกภาษาบาลีของฝ่ายเถรวาท[3]

ในปัจจุบันคำว่าพระไตรปิฎก ใช้หมายถึงคัมภีร์ในศาสนาพุทธโดยรวม ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สารบบ ได้แก่[4]

พระไตรปิฎกภาษาบาลี ใช้ในนิกายเถรวาท
พระไตรปิฎกภาษาจีน ใช้ในนิกายมหายาน
พระไตรปิฎกภาษาทิเบต ใช้ในศาสนาพุทธแบบทิเบต

*อ้างอิง
 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 392
 Journal of the Pali Text Society, volume XVI, page 114
 Harvey, Introduction to Buddhism, Cambridge University Press, 1990, page 3.
เสถียร โพธินันทะ, ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์, มรดกธรรมของเสถียร โพธินันทะ, 2548, หน้า 82-3

นิพพาน


ในคัมภรี์อภิธานัปปทีปิกานิสสยะกล่าวไว้ในคาถาที่๖-๙ ว่า


นิพพานมี ๔๖ คำ

๖. โมกฺโข นิโรโธ นิพฺพานํ ทีโป ตณฺหกฺขโย ปรํ
ตาณํ เลณ’มรูปญฺจ สนฺตํ สจฺจ’มนาลยํ.
๗. อสงฺขตํ สิว’ มมตํ สุทุทฺทสํ
ปรายณํ สรณ’มนีติกํ ตถา
อนาสวํ ธุว’มนิทสฺสนา’ กตา’ 
ปโลกิตํ นิปุณ’มนนฺต’มกฺขรํ.
๘. ทุกฺขกฺขโย’ พฺยาพชฺฌญฺจ   วิวฏฺฎํ เขม เกวลํ
อปวคฺโค วิราโค จ ปณีต’มจฺจุตํ ปทํ.
๙. โยคกฺเขโม ปาร’มปิ มุตฺติสนฺติวิสุทฺธิโย
วิมุตฺย’สงฺขตธาตุ สุทฺธินิพฺพุติโย สิยุ.

นิพพาน ๔๖ คำ : โมกฺข, นิโรธ, นิพฺพาน, ทีป, ตณฺหกฺขย, ปร, ตาณ, เลณ, อรูป, สนฺต,สจฺจ, อนาลย, อสงฺขต, สิว, อมต, สุทุทฺทส, ปรายณ, สรณ, อนีติก, อนาสว, ธุว, อนิทสฺสน, อกต, อปโลกิต, นิปุณ, อนนฺต, อกฺขร, ทุกฺขกฺขย, อพฺยาพชฺฌ, วิวฏฺฏ, เขม, เกวล, อปวคฺค, วิราค, ปณีต, อจฺจุต, ปท, โยคกฺเขม, ปาร, มุตฺติ, สนฺติ, วิสุทฺธิ, วิมุตฺติ, อสงฺขตธาตุ, สุทฺธิ, นิพฺพุติ.



       



------------------------------------------------------------------

นิพพาน 


นิพพานหมายถึง สภาพที่ดับกิเลสและกองทุกข์แล้ว ภาวะที่จิตมีความสงบสูงสุด เพราะไร้ทุกข์ ไร้สุข เป็นอิสรภาพสมบูรณ์

คำว่า "นิพพาน" มาจากภาษาบาลี Nibbāna निब्बान ประกอบด้วยศัพท์ นิ (ออกไป, หมดไป, ไม่มี) + วานะ (พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียก กิเลสตัณหา กล่าวโดยสรุป นิพพานคือการไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ อันเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

ในทางมหายานได้กล่าวไว้ใน ธรฺม-ธาตุ-ปรกฺฤตย-อวตาร-สูตฺร (入法界體性經) โดยอธิบายว่า ธรรมธาตุของนิพพานนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิด ไม่ดับ ไม่สกปรก ไม่บริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อน ไม่แปรปรวน ไม่มีผู้ใดดับได้ จึงไม่มีผู้ใดเกิด

พระอนุรุทธาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้พรรณนาคุณของนิพพานว่า ปทมจฺจุตฺ มจฺจนฺตํ อสงฺขตมนุตฺตรํ นิพฺพานมีติ ภาสนฺติ วานมุตฺตามเหสโย "พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้พ้นแล้วจากตัณหาเครื่องร้อยรัด ตรัสถึงสภาวะธรรมชาติหนึ่งที่เข้าถึงได้ เป็นธรรมชาติที่ไม่จุติ พ้นจากขันธ์ 5 ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใดๆ เลย หาสภาวะอื่นเปรียบเทียบไม่ได้ ว่าสภาวธรรมนั้นคือพระนิพพาน"

คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน 2 ประเภท คือ

สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีอุปาทิเหลือ ยังเกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ 5 กล่าวคือดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่อีก
การถกเถียงเรื่องสภาวะของนิพพาน[แก้]
อนึ่ง การถกเถียงเรื่องสภาวะของนิพพาน มีมานานเป็นพันปีแล้ว ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มที่มีความเชื่อไว้สองกลุ่มดังนี้

1. กลุ่มที่เชื่อว่า นิพพานมีสภาวะเป็น นิจจัง สุขขัง อัตตา กลุ่มนี้เชื่อว่า โดยมีแนวคิดง่ายๆว่าสภาวะของนิพพานนั้นต้องตรงข้ามกับกฎไตรลักษณ์(อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)โดยเฉพาะข้อความใน อนัตลักขณสูตร ที่กล่าวว่า สิ่งไดไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมเป็นทุกข์ และอนัตตา โดยทรงยกเอาขันธ์ 5 มาเป็นตัวอย่างในคุณลักษณะแห่ง สภาวะที่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์

เมื่อนิพพาน อยู่นอกเหนือจากกฎไตรลักษณ์ นิพพานจึงมีคุณลักษณะที่เที่ยงแท้ แน่นอน และเป็นบรมสุข ดังนั้นนิพพานจะเป็นอนัตตาไม่ได้ เพราะถ้านิพพานเป็นอนัตตานิพพานก็จะมีสภาวะเดียวกับขันธ์๕ แต่นิพพานไม่ใช่ขันธ์ 5 นิพพานนั้นเป็นธรรมขันธ์ นิพพานจึงไม่สามารถเป็นอนัตตา กลุ่มที่มีความเชื่อเช่นนี้มักเป็นกลุ่มธรรมกาย เป็นส่วนใหญ่ และสำนักเหล่านี้ยังอ้างว่า ตนสามารถไปเยี่ยมพระพุทธเจ้าที่แดนนิพพานด้วย

การเชื่อเรื่องนิพพานเป็นอัตตานั้นปรากฏหลักว่าเริ่มมีมาตั้งการสังคายนาครั้งที่สอง เช่น วาตสีปุตรียะเป็นนิกายที่แยกออกมาจากเถรวาทเมื่อครั้งการสังคายนาครั้งที่ 2 นิกายนี้ได้แพร่หลายจากมคธไปสู่อินเดียภาคตะวันตกและภาคใต้ ไม่มีปกรณ์ของนิกายนี้เหลืออยู่เลยในปัจจุบัน หลักธรรมเท่าที่มีหลักฐานเหลืออยู่คือนิกายนี้ยอมรับว่ามีอาตมันหรืออัตตาจึงถูกโจมตีจากนิกายอื่น เช่น มหาสังฆิกะ (มหายานในปัจจุบัน) เถรวาท และเสาตรานติกะ

2. กลุ่มที่เชื่อว่า นิพพาน มีสภาวะ เป็นอนัตตา เป็นสุขสูงสุดคือความสงบ ไม่ใช่สุขอย่างโลก ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่การมา ไม่ใช่การไป ไม่สถานที่ คือความหยุดโดยสมบูรณ์สิ้นสุดความเปลี่ยนแปลงจึงคงอยู่ในสภาพเดิมหรือ เป็น ตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง) ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ เป็นสุญญตา (ความว่าง) ธรรมธาตุของนิพพานนั้นจึงเป็นธาตุว่างพุทธศาสนานั้นปฏิเสธทิฐิเรื่องอัตตาหรืออาตมันในสมัยพุทธกาลลัทธิต่าง ๆ จะเน้นย้ำเรื่องอาตมันนี้มาก

ในกลุ่มแรกจะแย้งว่านิพพานไม่ใช่อนัตตาเพราะเนื่องจากอนัตตาคือสิ่งที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่มีตัวตน) แต่การนิพพานนั้นเป็นการดับสนิท โดยไม่เหลือเหตุปัจจัย ได้แก่ กิเลส ตัณหา อุปาทาน(เช่นการยึดมั่นถือมั่นในอัตตา) ทั้งปวง จึงเป็นการดับไม่เหลือหรือ “นิพพาน”

สภาวะของนิพพานจากหลักฐานในพระไตรปิฎก[แก้]
คำว่า "นิพพาน" เป็นคำที่ใช้กันในปรัชญาหลายระบบในอินเดีย โดยใช้ในความหมายของการหลุดพ้น แต่การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะของนิพพานนั้นแตกต่างกันออกไป ในปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่านิพพานหรือโมกษะ คือการที่อาตมันย่อยหรือชีวาตมันเข้ารวมเป็นเอกภาพกับพรหมัน แต่ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า นิพพานคือการหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ มิได้หมายความว่าเป็นการหลุดพ้นของอัตตาหรือตัวตนในโลกนี้ ไปสู่สภาวะของนิพพานอย่างคำสอนอุปนิษัท แต่หมายถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนและเครื่องผูกพันร้อยรัดทั้งปวง ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์

คัมภีร์ชั้นอรรถกถาของฝ่ายเถรวาท ระบุว่า "นิพพานอันว่างจากตน" "นิพพานเป็นอนัตตา" เช่น ในพระวินัยปิฎก ปริวารระบุว่า อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา "สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้" (วิ.ป.บาลี 8/257/194)

นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจ 4 ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจข้อ 3 ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม 31 ระบุว่าอริยสัจ 4 ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. 31/546/450) แปลว่า: "สัจจะทั้ง 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว (คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ (ทุกข์) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา " อรรถกถาอธิบายว่า อนตฺตฏฺเฐนาติ จตุนฺนมฺปิ สจฺจานํ อตฺตวิรหิตตฺตา อนตฺตฏฺเฐน. (ปฏิสํ.อ.2/229)

ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย" นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" คำว่า "อนัตตา" มีความหมายระดับปรมัตถ์ มีนัยที่ต้องไขความต่ออีก โดยเฉพาะในคัมภีร์ชั้นหลังจะบอกว่า "ที่ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่าง ๆ มาประชุมกัน ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนอยู่ ไม่มีตัวตนที่คงที่ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้เสวย ไม่มีอำนาจในตัวเอง บังคับให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ แย้งต่ออัตตา"

ในคัมภีร์มิลินทปัญหา พระนาคเสนเถระทูลแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ที่ทรงถามว่า ถ้านิพพานไม่มีที่ตั้งอาศัย นิพพานก็ย่อมไม่มี โดยกราบทูลว่า

"ขอถวายพระพรมหาบพิตร โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานหามีไม่ แต่นิพพานนั้นมีอยู่ พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำให้แจ้งนิพพาน ด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย มหาบพิตร เหมือนดั่งว่าชื่อว่าไฟย่อมมีอยู่ แต่โอกาสอันเป็นที่ตั้งของไฟนั้นหามีไม่ เมื่อบุคคลเอาไม้สองอันมาขัดสีกันก็ย่อมได้ไฟขึ้นมาฉันใด มหาบพิตร นิพพานก็มีอยู่ฉันนั้นนั่นแล โอกาสอันเป็นที่ตั้งของนิพพานนั้นไม่มี (แต่) พระโยคาวจรผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมทำนิพพานให้แจ้งด้วยการพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย..."(มิลินฺท.336)

ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ยังมีข้อความแสดงสภาวะของนิพพานอีกหลายแห่ง เช่นในปฏิสัมภิทามรรค มีอธิบายว่า นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ "ธรรมคือนิพพาน ว่างจากอัตตา เพราะไม่มีอัตตา" (ขุ.ป.อ.2/287) นอกจากนี้ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสะพยายามอธิบายให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของผู้ได้ชื่อว่าบรรลุนิพพาน ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอัตตา และนิพพานก็มิใช่สิ่งที่จะต้องมีอัตตาถึงจะมีอยู่ได้ ดังที่พระพุทธโฆสะกล่าวว่า "นิพพานมีอยู่ แต่ไม่มีผู้เข้าถึงนิพพาน มรรคามีอยู่ แต่ปราศจากผู้ดำเนินไป" (วิสุทฺธิ.3/101) ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ๆ ที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด แล้วบรรลุนิพพาน เมื่อปราศจาก "ตัวตน" ของผู้เข้าถึงนิพพาน นิพพานก็ย่อมไม่ใช่อัตตาไปด้วย

ความมีอยู่ของพระนิพพาน มิใช่สภาวะที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของจิต แต่มีอยู่โดยตัวของตัวเอง คือเป็นความจริงขั้นปรมัตถสัจ ที่ตรงข้ามกับสมมติสัจในโลกแห่งปรากฏการณ์ มีสภาวะที่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดดับสลับกันไปแบบสิ่งต่างๆ ในโลก นิพพานจึงเป็นอสังขตธรรมที่พ้นไปจากปัจจัยปรุงแต่ง ในสภาวะของนิพพานทั้งนาม (จิต) และรูป ย่อมดับไม่เหลือ ดังพุทธวจนะในเกวัฏฏสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ได้กล่าวถึงนิพพานว่าเป็น "ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใสโดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ อุปาทยรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมนี้ นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้ เพราะวิญญาณดับ นามและรูปย่อมดับ ไม่มีเหลือในธรรมชาติ ดังนี้ฯ" (ที.สี.14/350) เพราะฉะนั้น นิพพานจึงไม่ใช่จิต หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์ ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของพรหมันหรืออาตมันของปรัชญาฮินดู ทั้งยังไม่ใช่เจตสิกที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เพราะทั้งจิตและเจตสิกนั้นล้วนเป็นสังขตธรรม ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง มีธรรมชาติเกิดดับ มีการเปลี่ยนแปร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ แต่นิพพานอยู่เหนือสภาพเช่นนี้ และว่างเปล่าจากสิ่งเหล่านี้ ขณะเดียวกัน นิพพานก็ไม่ใช่ความดับสูญอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นลักษณะของอุจเฉททิฏฐิการใช้ภาษาอธิบายนิพพานเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเป็นอัตตาเที่ยงแท้ (สัสสตทิฏฐิ) หรือว่าเป็นความขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) ซึ่งเป็นทัศนะที่คลาดเคลื่อนจากพระบาลีทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" (ที.สี.14/90) ในคำสอนพระพุทธศาสนา ไม่มีอัตตาใดเข้าสู่นิพพาน และไม่มีอัตตาดับสูญในภาวะแห่งนิพพาน แม้ในโลกแห่งปรากฏการณ์ เบื้องหลังเบญจขันธ์อันไม่เที่ยงนั้น ก็มิได้มีอัตตาซึ่งเป็นผู้รับรู้หรือเป็นพื้นฐานแห่งตัวตนที่เที่ยงแท้อยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอยู่ในรูปของกระบวนการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งรูปธรรมและนามธรรม กระบวนการแห่งนามรูปที่สมมติว่าเป็น ตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา นี้ เมื่อวิวัฒนาการไปจนกระทั่งถึงที่สุด ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปก็เป็นอันยุติลง สภาพความสิ้นสุดกระบวนการแห่งนามรูปที่ไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่ทุกขณะนี้ เรียกว่านิพพาน เมื่อรูปและนามดับ นิพพานจึงไม่ใช่ทั้งจิตและสสารซึ่งต้องอาศัยเหตุปัจจัยในการดำรงอยู่ พระนิพพานตั้งอยู่โดยไม่ต้องอาศัยเหตุปัจจัย จึงเรียกว่าอสังขตธรรมในพระไตรปิฎกมักเปรียบนิพพานว่าเหมือนกับไฟที่ดับแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าไฟที่ดับไปนั้นหายไปไหนหรืออยู่ในสภาพใด

นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก การอธิบายนิพพานโดยอาศัยพื้นฐานในทางโลกตลอดจนภาษาทางตรรกศาสตร์จึงไม่อาจกระทำได้ การจำกัดความจึงมักใช้การปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ไม่ใช่ทั้งสิ่งนั้นและสิ่งนี้ ไม่มีการอุบัติ ไม่มีการจุติ ไม่มีองค์ประกอบ ไม่มีการสร้างสรรค์ ไม่มีการแตกทำลาย ไม่ใช่ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น ดังปรากฏในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ 4) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." (ขุ.ขุ.อ.25/50)

เมื่อนิพพานพ้นไป นิพพานจึงเทียบได้กับ ไฟอันที่หมดเชื้อไฟแล้วและดับไป อันเชื้อไฟนั้นเปรียบได้กับกิเลส ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น

*อ้างอิง
ขุทฺทกนิกาเย ธมฺมปท อุทาน อิติวุตฺตก สุตตนิปาตปาลิ.กรุงเทพฯ :มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2500.
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค.กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2539.
ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค.กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์การศาสนา, 2500.
มิลินฺทปญฺหา.กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2540.
ธรรมปิฎก,พระ.พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2546.
ธรรมปิฎก,พระ.พุทธธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 6.กรุงเทพ ฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2538.
พุทธทัตตะ,พระ.อภิธัมมาวตาร บาลี-ไทย.กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ,2530.
พุทธทาสภิกขุ. อนัตตาของพระพุทธเจ้า.กรุงเทพฯ : ธรรมสภา,2542.
วินยปิฎเก ปริวารปาลิ.กรุงเทพฯ :มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,2500.
สุชีพ ปุญญานุภาพ.พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน.กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2539.
เสถียร โพธินันทะ.ธรรมฐิติญาณกับนิพพานญาณ และหลักสุญญตา.กรุงเทพฯ :แพร่พิทยา,2526.
อนุรุทธะ,พระ.อภิธัมมัตถสังคหะ.กรุงเทพ ฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย,2506.
G.P. Malalasekera. The Truth of Anatta.Kandy:Buddhist Publication Society,1966.
Gombrich, Richard Francis.Theravāda Buddhism : a social history from ancient Benares to modern Colombo.London:Routledge & Kegan Paul,1988.
ปริวาร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๘
ฉันนสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗
อุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
ธาตุสูตร ขุททกนิกาย พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕
อนัตตลักขณสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โพธิปักขิยธรรม




โพธิปักขิยธรรม


โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรมะ 7 หมวดคือ
สติปัฏฐาน4,สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8
รวมเป็น 37 จึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37


1.) สติปัฏฐาน 4 คือ การเจริญสติระลึกรู้

1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องรูปธรรม
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนความรู้สึกจากสัมผัส
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นที่เรื่องนามธรรมในส่วนของการรับรู้
4. ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การหมั่นคิดใคร่ครวญโดยเน้นทุกเรื่องทั้งรูปธรรมและนามธรรม

2.) สัมมัปปธาน 4 คือ ความเพียรพยายาม

1. สังวรปธาน คือ เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น
2. ปหานปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น

3.) อิทธิบาท 4 คือ ทางแห่งความสำเร็จในกิจอันเป็นกุศล

1. ฉันทะ คือ ความพอใจและเต็มใจ
2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่ จิตใจจดจ่อ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน
4. วิมังสา คือ ปัญญาที่พิจารณาใคร่ครวญ หาเหตุผล เพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

4.) อินทรีย์ 5 คือ ธรรมที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในอารมณ์

1. สันธินทรีย์ คือ ความศรัทธาเป็นใหญ่
2. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรเป็นใหญ่
3. สตินทรีย์ คือ สติที่ระลึกรู้ในอารมณ์ปัจจุบันเป็นใหญ่
4. สมาธินทรีย์ คือ การทำจิตให้เป็นสมาธิตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
5. ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาทำหน้าที่เป็นใหญ่ด้วยการรู้แจ้ง

5.) พละ 5 คือ ธรรมอันเป็นกำลังที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค

1. สัทธาพละ คือ ความเชื่อ เลื่อมใส ศรัทธาที่เป็นกำลังให้อดทน และเอาชนะธรรมอันเป็นข้าศึก เช่น ตันหา
2. วิริยะพละ คือ ความเพียรพยายาม เป็นกำลังให้ต่อสู้กับความขี้เกียจ
3. สติพละ คือ ความระลึกได้ในอารมณ์สติปัฏฐาน อันจะเป็นกำลังให้ต้านทานความประมาทพลั้งเผลอ
4. สมาธิพละ คือ ความตั้งมั่นจดจ่ออยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ทำให้เกิดกำลังต่อสู้เอาชนะความฟุ้งซ่าน
5. ปัญญาพละ คือ เป็นกำลังปัญญาที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้เอาชนะโมหะ คือความโง่ ความหลง

6.) โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้

1. สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม
3. วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียร
4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจ
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกายใจ
6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์
7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง

7.) มรรคมีองค์ 8 คือ หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การบรรลุมรรคผลนิพพาน

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
5. สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน
6. สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

*อ้างอิง
 สํ.มหา.๑๙/๑๐๒๓-๑๐๒๔/๓๐๑
 ขุ.ขุ.๒๕/๒๗๗/๓๐๓
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม".

สติปัฏฐาน ๔


สติปัฏฐาน ๔


สติปัฏฐาน 4 เป็นหลักธรรมที่อยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร[1] เป็นข้อปฏิบัติเพื่อรู้แจ้ง คือเข้าใจตามเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงโดยไม่ถูกกิเลสครอบงำ สติปัฏฐานมี 4 ระดับ คือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

คำว่าสติปัฏฐานนั้นมาจาก (สร ธาตุ + ติ ปัจจัย + ป อุปสัคค์ + ฐา ธาตุ+ยุปัจจัย แปลง ยุ >อน) แปลว่า สติที่ตั้งมั่น, การหมั่นระลึก, การมีสัมมาสติระลึกรู้นั้นพ้นจากการคิดโดยตั้งใจ แต่เกิดจากจิตจำสภาวะได้ แล้วระลึกรู้โดยอัตโนมัติ โดยคำว่า สติ หมายถึงความระลึกรู้ เป็นเจตสิกประ​เภทหนึ่ง​ ส่วนปัฏฐาน ​แปล​ได้​หลายอย่าง​ ​แต่​ใน​ ​มหาสติปัฏฐานสูตร​ ​และ​ ​สติปัฏฐานสูตร​ ​หมาย​ถึง​ ​ความตั้งมั่น, ความแน่วแน่, ความมุ่งมั่น

โดยรวมคือเข้าไปรู้เห็นในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ตามมุ่งมองของไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ โดยไม่มีความยึดติดด้วยอำนาจกิเลสทั้งปวง ได้แก่

1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ซึ่งกายในที่นี่หมายถึงประชุม หรือรวม นั่นคือธาตุ 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟมาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็น รูปธรรมหนึ่งๆ เห็นความเกิดดับ กายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน ไม่มองเวทนาด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขาคือไม่มองว่าเรากำลังทุกข์ หรือเรากำลังสุข หรือเราเฉยๆ แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ เวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐาน เป็นการนำจิตมาระลึกรู้เจตสิกหรือรู้จิตก็ได้ ไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรากำลังคิด เรากำลังโกรธ หรือเรากำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ จิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน ทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา


*มติอาจารย์บางพวก

อานิสงส์ของสติปัฏฐาน4

1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณารูปขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายสุภวิปลาส (สำคัญความไม่งามว่างาม) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นตัณหาจริตทั้ง 3 คือราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต และเป็นสมถยานิก

2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาเวทนาขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายสุขวิปลาส (สำคัญความทุกข์ว่าสุข) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นตัณหาจริตทั้ง 3 คือราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต และเป็นสมถยานิก

3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาวิญญาณขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายอนิจจวิปลาส (สำคัญความไม่แน่นอนว่าแน่นอน) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นทิฏฐิจริตทั้ง 3 คือศรัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต และเป็นวิปัสสนายานิก

4.ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การพิจารณาสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ อานิสงค์ คือ ทำลายอนัตตวิปลาส (ความไม่มีตัวตนว่ามีตัวตน) เหมาะสมกับนักปฏิบัติที่เป็นทิฏฐิจริตทั้ง 3 คือศรัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต และเป็นวิปัสสนายานิก

คำว่า สมถะยานิก ไม่ได้หมายถึง ความมีสมาธิมากหรือน้อย แต่กล่าวถึง ผู้ที่ใช้สมถะนำเพราะเหมาะแก่ตน ซึ่งบุคคลคนๆนั้น อาจมีสมาธิมาก หรือน้อยก็ได้ มีมากก็เช่นในทิฏฐิวิสุทธินิทเทส มีน้อยก็ตามเนตติปกรณ์และสติปัฏฐานสูตร. จริงอย่างนั้น ในทิฏฐิวิสุทธินิทเทส ท่านกล่าวสมถะยานิกไว้ในฐานะที่มีสมาธิมาก, ส่วนในเนตติปกรณ์และสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น ท่านกล่าวไว้ในฐานะที่เหมาะกับตัณหาจริต เพราะเป็นสภาพที่เป็นปฏิปักษ์กัน จึงเหมาะแก่การกำจัดจริตฝ่ายชั่วนั้นๆ. แต่ท่านไม่ได้หมายถึง การที่พระสมถะยานิก มีโพชฌงค์ฝ่ายสมาธิมากในที่นั้นเลย มีแต่ในวิสุทธิมรรค ซึ่งคนละนัยยะกับสติปัฏฐานสูตร


นอกจากนี้ อาจารย์เหล่านั้นยังกล่าวว่า .-

"โดยที่อานาปานสติเหมาะสมกับทุกจริตทั้งตัณหาจริต และทิฏฐิจริต ทั้งสมถะยานิก และวิปัสสนายานิก" ดังนี้

ข้อนั้นไม่สมกับพระไตรปิฎก เพราะท่านกล่าวไว้ว่า อานาปานสติเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน ในอรรถกถากล่าวว่า กายานุปัสนาสติปัฏฐาน เหมาะกับ ตัณหาจริต สมถยานิก, และในวิสุทธิมรรค ท่านก็กล่าวความที่อานาปานสติเหมาะแก่โมหจริตไว้ในสมาธินิทเทส ซึ่งหนังสือพุทธธรรมก็ได้อ้างถึงไว้ด้วย

อนึ่ง ความหมายนี้ในพระไตรปิฎกใช้เพียงคำว่า สติปัฏฐาน เท่านั้น ส่วนคำว่า มหาสติปัฏฐาน นั้นมีใช้เป็นชื่อพระสูตรเท่านั้น ไม่มีใช้ในความหมายนี้โดยตรง



การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ สามารถทำลายวิปลาสธรรม ๔ ประการได้ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณากาย ซึ่งเป็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงรูปนั้นเป็นอสุภะ(ความไม่งาม,ความน่าเกลียด) เป็นการทำลาย สุภวิปลาส(สำคัญว่างาม,ว่าน่ารัก)

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาเวทนา ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงเแล้ว นามเป็นทุกข์ เป็นการทำลาย สุขวิปลาส(สำคัญว่าเป็นสุข)

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้วนามเป็นอนิจจัง เป็นการทำลาย นิจจวิปลาส(สำคัญว่าเที่ยง)

๔. ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติตั้งมั่นในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม เพื่อให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว รูป และนามนั้น เป็นอนัตตา เป็นการทำลาย อัตตวิปลาส(สำคัญว่าเป็นตัวตน)

โดยทั่วไปแล้ว ชีวิตทุกชีวิตย่อมมีวิปลาสธรรมเสมอ วิปลาสธรรม หมายถึง ธรรมที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะตั้งแต่เกิดมาเราไม่เคยรู้เลยว่า ชีวิตคือ ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อันประกอบขึ้นจาก จิต เจตสิก และรูป ที่มีการเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ทั้งนี้เพราะ อาสวะ และอวิชชา ที่เรามีมาเนิ่นนานจนนับภพนับชาติไม่ถ้วน ประกอบกับตัวการสำคัญที่มาคอยปิดบัง ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงสภาวธรรมของความจริงอันได้แก่ “ไตรลักษณ์” ได้ นั่นคือ

๑. สันตติ ปิดบัง อนิจจัง เพราะสันตติ คือ การเกิดสืบต่อของนามรูปที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ไม่สามารถเห็นความเกิด และความดับของนามรูปได้ เราจึงเข้าใจผิดว่ามีความเที่ยงแท้ถาวร (นิจจัง)

๒. อิริยาบถ ปิดบัง ทุกขัง เพราะการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่มีอยู่เกือบตลอดเวลา จึงทำให้คนเรามองไม่เห็นทุกข์ที่เกิดจากอิริยาบถเก่า ด้วยอำนาจของตัณหา คนเราจึงไขว่คว้าหาความสบายจากอิริยาบถใหม่ เมื่อเปลี่ยนแล้วหลงเข้าใจว่าเป็นสุข การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถจึงปิดบังทุกขเวทนา ทำให้ไม่สามารถเห็นทุกขสัจจะได้

๓. ฆนสัญญา ปิดบัง อนัตตา เพราะ ฆนสัญญา คือ ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เกิดจากการประชุมกันของรูปธรรม และนามธรรม จึงทำให้เราหลงผิดคิดว่าชีวิตเป็นตัวตน (อัตตา)

เพราะธรรมที่ปิดบังไตรลักษณ์นี้เอง จึงทำให้เราหลงผิดคิดว่า ชีวิตคือรูปนามนี้ดี มีความสวยงามน่ารัก(สุภวิปลาส) มีความสุขสบาย (สุขวิปลาส ) มีความเที่ยงแท้ ถาวร (นิจจวิปลาส) และเป็นตัวตน คน สัตว์ (อัตตวิปลาส) ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ชีวิตเป็นเพียงแค่ขันธ์ห้า คือรูปธรรมและนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาด้วยรูปธาตุ จนเป็นรูปกลาปต่างๆ ในที่สุดก็เกิดเป็นกลุ่มก้อนของอวัยวะที่ล้วนมีแต่อสุภะ และทั้งรูปนามที่เกิดขึ้นนั้นก็คงสภาพเดิมไว้ไม่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องแตกดับ เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่สามารถบังคับบัญชาได้

องค์ธรรมของวิปลาสมี ๓ คือ ทิฏฐิ (ทำให้เห็นผิด) จิต (ทำให้เข้าใจผิด) สัญญา (ทำให้จำผิด) ประกอบกับวิปลาสธรรมมี ๔ คือ หลงผิดคิดว่าชีวิตนี้ดี มีสุข เที่ยง และเป็นตัวตน จึงรวมเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการ ซึ่งวิปลาสเหล่านี้เอง ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้ชีวิตคนเราต้องมีความดิ้นรนแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งอารมณ์ที่ดี (อิฏฐารมณ์) เมื่อสมหวังก็เกิดความพอใจ เรียกว่า อภิชฌา แต่ถ้าได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี (อนิฏฐารมณ์) ก็จะผิดหวัง ไม่พอใจ เรียกว่า โทมนัส ไม่ว่าจะพอใจ หรือไม่พอใจล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น บางท่านเรียกความต้องการในอารมณ์ที่น่ายินดี และปัดป้องอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีนี้ว่า “ตัณหา” แต่ถ้าผู้ใดสามารถวางใจไว้ได้อย่างแยบคาย หรือที่เรียกว่ามี “โยนิโสมนสิการ” ในสติปัฏฐาน ๔ นั่นคือสามารถกำหนดสติได้เท่าทันในปัจจุบันอารมณ์ ว่ามีรูปอะไร หรือนามอะไรเกิดขึ้น สติและสัมปชัญญะที่เกิดขึ้นในขณะนั้นย่อมป้องกันกิเลส-ตัณหา ทำให้อภิชฌา และโทมนัสเกิดขึ้นไม่ได้ จึงเป็นที่แน่นอนว่าอารมณ์ขณะนั้นย่อมปราศจากกิเลส เมื่อกิเลสไม่มี กรรมย่อมไม่เกิด ขณะนั้นจึงเป็นวิวัฏฏกรรม ซึ่งไม่สามารถทำให้เกิดผลคือวิบาก อันได้แก่รูปนามขันธ์ห้า (ชีวิต) ที่จะมีต่อไปในภายภาคหน้าได้อย่างแน่นอน

*องค์ธรรมของ สติปัฏฐาน ๔ นี้ ได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบกับจิตที่เป็นติเหตุกชวนจิต ๓๔ ดวง คือ มหากุศลญาณสัมปยุตตกุศลจิต ๔ มหากิริยาญาณสัมปยุตตกุศลจิต ๔ มหัคคตกุศลจิต ๙ มหัคคตกิริยาจิต ๙ โลกุตตรจิต ๘

ดังนั้นวิปลาสธรรมทั้งหมดมีเกิดขึ้นมาได้ เพราะเราไม่เท่าทันในความจริงของชีวิตรูป และชีวิตนาม ที่เรียกว่า “อโยนิโสมนสิการ” แต่ขณะใดที่มี “โยนิโสมนสิการ” ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดขึ้นด้วย และเป็นที่แน่นอนว่าเวลานั้นวิปลาสธรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ อาจกล่าวได้ว่าโยนิโสมนสิการ เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขประตูชีวิต ให้ผู้ปฏิบัติได้เข้าไปเห็นความจริงว่า “ชีวิตที่ประกอบด้วยรูปนามขันธ์ห้านั้น แท้ที่จริงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

*มีพุทธวจนะกล่าวไว้ว่า

ธรรมชาติใดก็แล้วแต่ ย่อมเห็นแจ้ง และขับไล่วิปลาสธรรมให้ออกไปได้ ธรรมชาตินั้นเรียกว่า "วิปัสสนา"

ธรรมชาติใดก็แล้วแต่ ย่อมเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ โดยประการต่างๆ มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ธรรมชาตินั้นเรียกว่า "วิปัสสนา"

คำว่า วิปสฺสนา นั้นมาจาก (วิ + ทิส ธาตุ เปกฺขเน ในการเห็น แปลงทิส เป็น ปสฺส  ทิส>ปสฺส + ยุปัจจัย แปลง ยุ >อน + ลง อา ปัจจัย อิตถีโชตกะ สำเร็จ เป็น วิปสฺสนา)

*ฉะนั้น การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การปฏิบัติวิปัสสนานั่นเอง

สรุปได้ว่า การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือการปฏิบัติวิปัสสนา เท่านั้น จึงจะสามารถทำลายวิปลาสธรรมทั้ง ๔ ได้ และเมื่อใดที่วิปลาสธรรมถูกทำลายลง เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติย่อมเข้าถึงสภาวธรรมแห่งไตรลักษณ์ หากบุคคลใดได้ประจักษ์แจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ที่กำลังดำเนินอยู่ในเส้นทางของการพ้นทุกข์โดยตรง


*อ้างอิง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ.

*ดูเพิ่มเติม
[1]  ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๗๓/๒๕๗.  ผู้สนใจ ศึกษาคำอธิบายอย่างละเอียดได้จากหนังสือของท่าน พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ),มหาสติปัฏฐานสูตร ทางสู่พระนิพพาน,  แปลโดยพระคันธสาราภิวงศ์, (กรุงเทพฯ  : ห้างหุ้นส่วนจำกัด  ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๙).
        [2] พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ),มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน,  แปลโดยพระคันธสาราภิวงศ์, หน้า๒๔.
           [3] กจฺ. ข้อ ๕๔๗ ด้วยสูตรว่า  กตฺตุกรณปเทสุ จ.
           [4] กจ. ข้อ ๖๒๒ ด้วยสูตรว่า อนกา ยุณฺวูนํ..
           [5] ที.ม.อ. (บาลี) ๓๖๗-๓๖๘,  ที.ม.ฏีกา(บาลี) ๓๕๗-๓๕๙.
        [6]พระสัทธัมมโชติกะธัมมาจริยะ,ปรมัตถโชติกะปริจเฉทที่ ๗. หน้า ๑๓๑.
           [7] พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ, ปรมัตถโชติกะ ปริจเฉทที่ ๓ และปริจเฉทที่ ๗, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพยวิสุทธิ์), หน้า ๑๓๐.
        [8] ม.ม. (บาลี) ๑๒/๑๓๑/๑๐๓ , ที.ฏีกา (บาลี) ๒/๑๑๐.
        [9] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๗๓/๒๑๖.
        [10] การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน ๔   พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะ อาสภเถระธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ
        [11] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๗๓/๓๐๑
        [12]ที.ม.  (บาลี) ๑๐/๒๗๓/๓๒๒.
        [13] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๗๔/๒๑๖, ที.ฏีกา (บาลี) ๒/๑๑๐.
        [14] ดูรายละเอียดใน วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๑๒๐.
        [15] สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๙๘๔/๔๖๒ , สํ.ม. (ไทย)  ๑๙/๙๘๑/๔๕๗.
        [16] สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๙๘๔/๔๖๑.
        [17] ดูรายละเอียดใน ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๔๙/๑๘๙.
        [18] ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๔๙/๑๙๐.
        [19] วิ.มหา. (บาลี) ๑/๑๖๕/๙๖, ม.ม. (บาลี) ๑๓/๑๒๑/๙๕ , ม.อุ. (บาลี) ๑๔/๑๔๘/๑๓๐.
        [20] ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา มี ๙ อย่าง ได้แก่ ๑)อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ  ๒) ภังคานุปัสสนาญาณ  ๓) ภยตูปัฏฐานญาณ  ๔)  อาทีนวานุปัสสนาญาณ  ๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณ   ๖) มุญจิตุกัมยตาญาณ  ๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ๘) สังขารุเปกขาญาณ ๙) สัจจานุโลมิกญาณ   ดูใน องฺ.จตุกฺก.อ. (บาลี)๒/๑๖๒/๓๘๗,  องฺ.จตุกฺก.ฏีกา (บาลี) ๒/๑๖๒/๔๒๕.
           [21] วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๓๐๐ , วิ.มหา.อ. (บาลี) ๑/๕๐๕ ,ขุ.ป.อ. (บาลี) ๒/๑๐๗.
        [22] ม.มู.ฏีกา (บาลี) ๑/๔๙/๒๕๗ ,  วิสุทฺธิ.มหาฏีกา (บาลี) ๑/๓/๑๕.
        [23] ขุ.ป. (บาลี) ๓๑/๑๖๗/๒๕๘.
        [24] วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๓๐๐ ,ขุ.ป.อ. (บาลี) ๒/๑๐๗.
        [25] พระโสภณมหาเถระ,วิปัสสนานัย เล่ม ๑ . พระพรหมโมลี (สมศักดิ์  อุปสโม)ตรวจชำระ, พระคันธสาราภิวงศ์  เรียบเรียง, : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซีเอไอ เซ็นเตอร์, ๒๕๔๘.
        [26] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๓๘/๒๖๒.
        [27] ดูรายละเอียดใน ม.ม. (บาลี) ๑๓/๑๗๗/๙๓, อภิ.สงฺ.อ. (บาลี) ๑/๑๐๑๑/๓๙๑, พระโสภณมหาเถระ(มหาสีสยาดอ) , วิปัสสนานัย เล่ม ๑,  อ้างแล้ว, หน้า ๒๒๙.
        [28] ระงับกายสังขาร  หมายถึงผ่อนคลายลมหายใจหยาบให้ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ  จนถึงขั้นที่จะต้องพิสูจน์ว่า  มีลมหายใจอยู่หรือไม่  ดูใน วิสุทฺธิ. (บาลี) ๑/๒๒๐-๒๒๑/๒๙๘-๓๐๒.
        [29] ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๕๓/๑๙๖.
[30] ม.อุ. (ไทย) ๑๔/๑๕๔/๑๙๗.
[31] ม.อุ.อ. (บาลี) ๔/๑๐๙/๙๙.
[32] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๗๕/๓๐๔ , พระโสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (มหาสีสยาดอ), พระคันธสาราภิวงศ์  เรียบเรียง, พระพรหมโมลี (สมศักดิ์  อุปสโม ป.ธ. ๙, Ph.D) ตรวจชำระ, มหาสติปัฏฐานสูตร ทางสู่พระนิพพาน,พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด โทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๒๒.
        [33]  ม.มู. (บาลี) ๑๒/๑๓๔/๑๐๕.
        [34] ม.มู. (ไทย)  ๑๒/๑๓๔/๗๔.
        [35] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๗๕/๒๑๗.
        [36] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๓๗๕/๒๘๙,  ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๗๕/๓๐๔.
        [37] ที.ม.อ. (บาลี) ๑๔/๒๙๙ ,  ม.มู.อ. (บาลี) ๑๗/๑๓๔/๖๗๕.
        [38] ดูรายละเอียดใน พุทธทาสภิกขุ.  วิปัสสนาในอิริยาบถยืน.  กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์ธรรมสภา, ๒๕๔๒.
        [39] อ้างแล้ว.
        [40] วิสุทฺธิ.  (บาลี)  ๓/๒๕๑,  พระพุทธโฆสเถระ,  วิสุทธิมรรค,  สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง  พิมพ์ครั้งที่ ๖ (กรุงเทพฯ : บริษัท ธนาเพรส จำกัด, ๒๕๔๘), ที.สี.อ. (บาลี) ๑/๒๑๔/๑๗๓ – ๑๗๔., สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๓๖๔/๒๖๑., อภิ.วิ.อ. (บาลี) ๑/๕๑๓/๓๘๐.
        [41]  ที.ฎีกา (บาลี) ๑/๓๐๑-๒, ม.ฎีกา (บาลี) ๑/๔๔๖.
        [42] ธนิต อยู่โพธิ์.  วิปัสสนานิยม, พิมพ์ครั้งที่ ๗.  พ.ศ ๒๕๔๐.  หน้า  ๒๘.
        [43] อง.ปญฺจก.  (บาลี)  ๒๒/๒๙/๓๑.
        [44] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๓๗๔/๒๘๙,  ที.ม.(ไทย)๑๐/๓๗๔/๓๐๒, วิสุทฺธิ. (บาลี)๑/๒๙๕.
        [45] ที.ม.อ.  (บาลี)  ๑๔/๒๙๙,  ม.มู.อ. (บาลี) ๑๗/๑๓๔/๖๗๕.
        [46] มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน,  พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)  พระพรหมโมลี (สมศักดิ์  อุปสโม  ป.ธ.๙  M.A. Ph.D)  ตรวจชำระ  พระคันธสาราภิวงศ์ (แปลและเรียบเรียง) หน้า ๔๓.
        [47] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๒๗๕/๒๑๗.
        [48] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๕๗/๒๔๙.
        [49] ม.มู.อ. (ไทย) ๑๗/๑๓๔/๖๗๕.
        [50] พระราชพรหมาจารย์  (พระอาจารย์ทอง  สิริมงฺคโล)  คู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน  ๔  หน้า  ๕.
[51] ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๗๖/๓๐๕.
        [52] ม.มู. (บาลี) ๑๒/๑๓๕/๑๐๕.
        [53] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๓๕/๗๔.
        [54] ที.ม.อ. (ไทย)  ๑๔/๒๗๖/๒๑๒, ม.มู.อ. (ไทย)  ๑๗/๑๓๕/๖๐๘-๖๐๙.
        [55] ที.ม.  (บาลี)  ๑๐/๒๗๕/๓๒๔.
        [56] มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน.  พระโสภณมหาเถระ  (มหาสีสยาดอ)  พระพรหมโมลี  (สมศักดิ์  อุปสโม  ป.ธ. ๙  M.A . Ph. D)  ตรวจชำระ  พระคันธสาราภิวงศ์  (แปลและเรียบเรียง)  หน้า ๑๒๖.
        [57] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๒๗๕/๓๒๔.
        [58] ที.ม.(บาลี) ๑๐/๒๗๕/๓๒๔.
        [59]  เรื่องเดียวกัน.  หน้า ๑๓๒.
        [60] ที.ม.  (บาลี)  ๑๐/๒๗๕/๓๒๕.
        [61]  เรื่องเดียวกัน.  หน้า ๑๓๒.
        [62] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๒๗๕/๓๒๕.
        [63] มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน. พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ) พระพรหมโมลี (สมศักดิ์  อุปสโม  ป.ธ. ๙  M.A . Ph.  D) ตรวจชำระ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปลและเรียบเรียง). หน้า ๑๓๔.
        [64] ที.ม. (บาลี) ๑๐/๒๗๕/๓๒๕.
        [65] พระโสภณมหาเถระ. (มหาสีสยาดอ) มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน, พระคันธสาราภิวงศ์ (แปลและเรียบเรียง)  หน้า ๑๓๔.
        [66] จำลอง  ดิษยวณิช, วิปัสสนากรรมฐานและเชาวน์อารมณ์  ฉบับปรับปรุง, (เชียงใหม่ :ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์, พิมพ์ครั้งที่  ๓), หน้า ๕๒-๕๔.
     
        [67] ม.มู. (บาลี) ๑๒/๑๓๗/๑๐๖.
        [68] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๑๓๗/๗๕.
        [69] เรื่องเดียวกัน.  หน้า ๑๘๘.
        [70] วิปัสสนากรรมฐานและเชาวน์อารมณ์ ฉบับปรับปรุง,  จำลอง ดิษยวณิช.  เชียงใหม่: พิมพ์ที่เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์,  ๒๕๔๙:  หน้า ๕๑.

        [71] ที. ม. (บาลี) ๑๐/๓๘๐/๒๖๕.
        [72] ที. ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๐/๓๑๓.
        [73] สํ.สฬา. (ไทย) ๑๘/๒๗๐/๓๐๒ – ๓๐๓.
        [74] เรื่องเดียวกัน.
        [75] อภิ.วิ. (ไทย) ๓๕/๓๖๓/๓๑๐.
  [76] องฺ.ทสก. (ไทย) ๒๔/๖๐/๘๗.
  [77] ม.มู. (ไทย) ๑๒/๒๔/๑๔-๑๕.
  [78] ม.มู. (ไทย) ๑๒./๔๕/๓๐๘.
  [79] สํ.ข. (ไทย) ๑๗/๕๑/๔๒.
        [80] พระราชพรหมาจารย์  (พระอาจารย์ทอง  สิริมงฺคโล)  คู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน  ๔  หน้า  ๕.
        [81] พระโสภณมหาเถระ.  (มหาสีสยาดอ)  มหาสติปัฏฐานสูตรทางสู่พระนิพพาน  พระพรหมโมลี  (สมศักดิ์  อุปสโม  ป.ธ. ๙  M.A. Ph. D)  ตรวจชำระ พระคันธสาราภิวงศ์  (แปลและเรียบเรียง).  หน้า ๒๕๒.
     
        [82] ม.ม. (บาลี) ๑๒/๑๓๑/๑๐๓ , ที.ม.ฏีกา (บาลี) ๒/๑๑๐.
        [83] ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๑/๓๑๔-๓๑๕.
        [84] พระราชพรหมาจารย์  (พระอาจารย์ทอง  สิริมงฺคโล)  คู่มือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวสติปัฏฐาน  ๔  หน้า  ๕.
        [85] ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๘๒/๓๑๖-๓๑๗.
        [86] ม.ม. (บาลี) ๑๒/๑๓๑/๑๐๓ , ที.ม.ฏีกา (บาลี) ๒/๑๑๐.
        [87]ที.ปา.(ไทย)๑๑/๑๓๕/๓๐๑,องฺ.นวก. (ไทย)๒๓/๖๔/๕๔๙, อภิ.วิ.(ไทย)๓๕/๙๔๑/๕๙๕.
[88]  พระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ), พระคันธสาราภิวงศ์  แปลและเรียบเรียง, พระพรหมโมลี  (สมศักดิ์  อุปสโม ป.ธ. ๙ M.A, Ph.D.) ตรวจชำระ, มหาสติปัฏฐานสูตร ทางสู่พระนิพพาน, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด โทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า ๒๘๑.
           [89]  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์  ฉบับประมวลธรรม, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย), [๒๑๖], หน้า  ๑๖๒ – ๑๖๓.
        [90] ดูรายละเอียดใน ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๔/๓๑๙.
           [91]  ที.ปา.  (บาลี) ๑๑/๓๐๔-๓๐๕/๒๕๕.
        [92] นายแพทย์ชินโอสถ  หัสบำเรอ,  วิธีการสร้างโปรแกรมจิต  เพื่อใช้สมองอย่างคอมพิวเตอร์,  (กรุงเทพมหานคร  :  นิตยาสารโลกทิพย์),  หน้า  ๑๐๙.
        [93]  ดูรายละเอียดใน ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๕/๓๒๑.
           [94]  ที.ม. (ไทย) ๑๐/ ๓๘๕/๓๒๐–๓๒๓.
[95] อู  บัณฑิตาภิวังสะ  พระกัมมัฏฐานาจริยะ, พระสว่าง  ติกฺขวิโร  ปรับปรุงแปล,  พระครูปลัดประจาก  สิริวณฺโณ  ตรวจ,  IN  THIS  VERY  LIFE  รู้แจ้งในชาตินี้,    (กรุงเทพมหานคร  :  สหธรรมมิก  จำกัด)  ๒๕๔๘.
      [96] พระพรหมคุณาภรณ์  (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพฯ  :  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย),  ๒๕๔๙, หน้า  ๘๗๙.
      [97] สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๑๘๔/๒๑๐, องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๘๘/๒๔๓.
      [98] สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๑๘๔/๒๑๐,  องฺ.ติก.อ.  (บาลี)  ๒/๘๘/๒๔๓.
      [99] สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๑๘๔/๒๑๐, องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๘๘/๒๔๓.
      [100] สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๑๘๔/๒๑๐, องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๘๘/๒๔๓.
      [101] สํ.ม.อ. (บาลี) ๓/๑๘๔/๒๑๐, องฺ.ติก.อ. (บาลี) ๒/๘๘/๒๔๒.
      [102] สํ.มหา.  (ไทย)  ๑๙/๑๘๔/๑๑๖.
           [103] ดูรายละเอียดใน ที.ม. (ไทย) ๑๐/๓๘๖/๓๒๔.
           [104] ที.ม. (ไทย)  ๑๐/๓๘๖-๔๐๒/๒๖๐-๒๖๘.
      [105] พระโสภณมหาเถระ( มหาสีสยาดอ), มหาสติปัฏฐานสูตร ทางสู่พระนิพพาน, แปลโดย
พระคันธสาราภิวงศ์, (กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วน  จำกัด ไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๙), หน้า๔๓๘-๙.
           [106] ที.ม.  (ไทย)  ๑๐/ ๓๐๐/๒๓๓.  ที.ม. (บาลี)  ๑๐.๔๐๕.๒๘๒.

ภาษาบาฬี


ภาษาบาฬี สำคัญอย่างไร?


 ความสำคัญของภาษาที่ใช้บันทึกคำสอน..
ภาษาบาฬีสำคัญอย่างไร ?
บาฬี เป็นชื่อเรียกพระไตรปิฎกโดยตรง และเป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนั้น ภาษาบาฬีจึงเป็นภาษาสากลของนานาชาติ การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาฬี ทำให้สามารถเผยแผ่พระธัมม์คำสอนไปในดินแดนต่างๆ ทั่วโลกได้ นอกจากนี้ภาษาบาฬีไม่มีอักษรของตน เพราะภาษาบาฬีสามารถใช้อักษรของชาติต่างๆ เขียนภาษาบาฬีได้ เช่น ภาษาบาฬีอักษรสิงหล (ศรีลังกา) ภาษาบาฬีอักษรขอม (ใช้ในสมัยไทยโบราณ) ภาษาบาฬีอักษรสยาม (ไทยสมัย ร. 5) หรือ ภาษาบาฬีอักษรโรมัน (สากล) เป็นต้น

เนื่องจากภาษาบาฬีเป็นภาษาสากลที่ชาวโลกในนานาประเทศสามารถอ่านออกเสียงสวดภาษาบาฬีได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากพระสงฆ์เถรวาททั่วโลกเมื่ออ่านหรือเขียนด้วยอักษรโรมันย่อมออกเสียงสวดมนต์ได้เป็นเสียงเดียวกัน การจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมันครั้งนี้จึงเป็นการจัดพิมพ์เป็นอักษรสากลที่ทำให้ชาติต่างๆ สามารถอ่านภาษาบาฬีในพระไตรปิฎกได้แพร่หลายยิ่งขึ้น พระไตรปิฎกสากลฉบับนี้จะเป็นต้นฉบับที่จะสามารถแปลเป็นภาษาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแพร่หลายไปในโลก


**ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่ต้องเรียนพระบาฬี**


ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันปรินิพพานพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดให้เป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์ นอกจากจะทรงประทานพุทธพจน์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ไว้ว่า พระธรรมและวินัยที่มีเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว นี่แสดงว่าในสมัยพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้นยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอน
ดังที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันในสมัยนั้น 2 อย่าง คือ

1.พฺรหฺมจริย ดังพุทธวจน์ที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันตสาวก 60 รูป ไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่าจรถภิกฺขเว, จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย,  อตฺถาย หิตาย สุขาย, เทวมนุสฺสานํ เทเสตุ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํพฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิฯ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง[1]

2.ธมฺมวินเย (ธรรมวินัย)ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต. โส โว มมจฺจเยนฯ ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่ตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว[2]

ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการแบ่งพระพุทธวจนะไว้เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ยังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฏก” หากแต่เรียกว่า  “ธรรมวินัย” การจัดหลักธรรมคำสอนเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบหมวดหมู่ที่เรียกว่า

“การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ประกอบด้วยคัมภีร์สำคัญ 3 ปิฎก คือ

1.พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย หรือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

2.พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่าง ๆ ในเวลาและสถานที่ต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกองค์สำคัญ

3.พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่าง ๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล หรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยา และอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา
เนื้อความทั้งหมดของพระไตรปิฎกจัดแบ่งเป็นหมวด ๆ หรือ ขันธ์ มีจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น
พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์
พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์
และพระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์[3]
ความสำคัญของพระไตรปิฎกคือเป็นคัมภีร์ที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและยังมีคัมภีร์อื่นๆที่ช่วยอธิบายขยายความพระพุทธพจน์


**แบ่งลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ดังนี้


1. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี (Pali)เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา (มุขปาฐะ) เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎก  คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่า คัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่า บาลีพุทธวจนะ (Canon)

2. อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries) คือคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น 2 ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก  บางอรรถกถาอธิบายความโดยรวมทั้งหมด  บางอรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎกเพียงบางส่วน

3. ฎีกา (Sub-commentaries)   คือคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น 3

4. อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) คือคัมภีร์ที่อธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น 4 เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น

5.สัททาวิเสส คือ กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์บาลีที่ว่าด้วยหลักภาษาในพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์พื้นฐาน แห่งความเข้าใจในภาษาบาลีตลอดจนการเรียนรู้และวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมในพระ ไตรปิฎก ปัจจุบันในหอสมุดแห่งชาติมีบัญชีรายชื่อกลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส 153 คัมภีร์ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่แต่งในลังกา พม่าและไทย สำหรับในประเทศพม่ามีรายชื่อคัมภีร์สัททาวิเสสแต่งขึ้นเฉพาะในพม่าเป็นภาษาบาลีอย่างเดียวจำนวน 134 คัมภีร์    ความจริงชื่อว่าสัททาวิเสสหมายความถึงกลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นหลักแต่ยังมี คัมภีร์อื่นที่ว่าด้วยหลักภาษาซึ่งไม่จำกัดไวยากรณ์ เมื่อกลุ่มคัมภีร์ทั้งหมดที่เป็นอุปการะในการศึกษาพระไตรปิฎก อาจแบ่งได้เป็น 4 ประการ[4] คือ

1.กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์ คือคัมภีร์แสดงหลักภาษา เช่น กัจจายนไวยากรณ์           โมคคัลลานไวยากรณ์ สัททนีติปกรณ์ เป็นต้น
2.กลุ่มคัมภีร์นิฆัณฑุ คือคัมภีร์ประเภทพจนานุกรมศัพท์ เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คัมภีร์เอกักขรโกศ เป็นต้น
3.กลุ่มคัมภีร์ฉันทลักษณ์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบในการวางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ เช่น คัมภีร์วุตโตทัย คัมภีรฉันโทมัญชรี เป็นต้น
4.กลุ่มคัมภีร์เกฏภะ คือ คัมภีร์ว่าด้วยการตกแต่งเสียงและความหมายให้ภาษามีความไพเราะ เช่น คัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นต้น


**หลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ได้ยึดแบบที่สมเด็จพระมหา    สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นับแต่ พ.ศ. 2463 ที่ทรงโปรดให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาษาบาลี โปรดให้เรียนหลักบาลีไวยากรณ์ที่ทรงรจนาขึ้นใหม่แทนการเรียน     มูลกัจจายน์ ตั้งกองบาลีสนามหลวงขึ้นรับผิดชอบ จัดการศึกษาบาลีเป็นระบบเปรียญธรรม(ป.ธ.) จัดการศึกษาเป็น 9 ชั้นหรือเปรียญธรรม 9 ประโยค มีวิชาบาลีไวยากรณ์เป็นพื้นฐานจากนั้นจึงเรียนวิชาแปลภาษามคธเป็นไทย และแปลภาษาไทยเป็นภาษามคธ [5] กำหนดให้นักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีทุกระดับชั้นแปลสอบสนามหลวง เพียงแต่ใช้หนังสือและวิธีสอบต่างกันการศึกษาบาลีเพื่อการค้นคว้าบทบาลีในพระไตรปิฎกนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหลักไวยากรณ์บาลี ในหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ แบ่งเป็น 4 ภาค[6] คือ

ภาคที่ 1 อักขรวิธีว่าด้วยอักษรแบ่งเป็น 2 คือ สมัญญาภิธาน แสดงเรื่องชื่ออักษร สระ พยัญชนะ ฐานกรณ์ เป็นต้น   สนธิ ว่าด้วยการเชื่อมอักษร สระ พยัญชนะ นิคคหิต

ภาคที่ 2 วจีวิภาคว่าด้วยชนิดของคำ 6 ชนิด คือ นามศัพท์ อัพยยศัพท์ อาขยาต กิตก์ สมาส ตัทธิต

ภาคที่ 3 วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการเชื่อมบทแต่ละคำในประโยค หรือ หน้าที่ของบทในประโยคบาลี

ภาคที่ 4 ฉันทลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะคำประพันธ์ที่กำหนดครุ ลหุ มาตราใน      ฉันทลักษณ์
             เมื่อจัดลำดับความสำคัญในการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะสงฆ์กำหนดให้ผู้เข้าเรียนใหม่ จะต้องเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ คือ ภาคที่ 1 และภาคที่ 2  ในระดับชั้นเปรียญธรรมประโยค   1-2 และ ป.ธ. 3 จะเห็นได้ว่าการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยเป็นการยากที่จะเข้าใจพระไตรปิฏก ซึ่งเป็นธรรมะที่ละเอียด ลึกซึ้งที่ถ่ายทอดผ่านภาษาบาลี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาคัมภร์เพิ่มเติมเป็นต้นว่าสัททาวิเสสและกลุ่มคัมภีร์อื่นเพื่อการศึกษาบาลีในพระไตรปิฎก ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้กำหนดหัวข้อเรื่องการกซึ่งอยู่ในวากยสัมพันธ์และคัมภีร์ปทวิจาร เพราะเป็นชนิดของคำที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และหากมีการวิเคราะห์ผิดหรือใช้หลักไวยากรณ์การกผิดประเภท ก็จะทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป     ดังนั้นจึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยการกหรือการสัมพันธ์ในประโยค ฯลฯ


[1]วิ.ม. (ไทย) 4/32/40.

[2]ที.ม. (ไทย) 10/141/178.

[3] พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่16,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2554), หน้า143.

[4] พระญาณาลังการเถระ, ปทวิจาร, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่ หจก.ไทยรายวันการพิมพ์ บางขุนเทียน จอมทอง, 2547), หน้า(4)-(7).

[5] แม่กองบาลีสนามหลวง. เรื่องสอบบาลีของสนามหลวงแผนกบาลี พ.ศ.2550, (กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์,2550), หน้า 277.

[6] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, บาลีไวยากรณ์, พิมพ์ครั้งที่37, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2538), หน้า5.

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/207562

สมถกรรมฐาน



สมถกรรมฐาน 

มาจากพระบาฬีว่า สมถกมฺมฏฺฐาน = สมถ+กมฺมฐาน
รูปวิเคราะห์/วจนัตถะ
 1. กิเลโส สเมตีติ สมโถ.(สมุ อุปสเม ในความสงบ +  ถ ปัจจัย) ทำกิเลส มีกามฉันทนวรณ์เป็นต้น ให้สงบ ชื่อว่า สมถ.
2.จิตฺตํ สเมตีติ สมโถ.(สมุ อุปสเม ในความสงบ +  ถ ปัจจัย) ยังจิตให้สงบ ชื่อว่า สมถ.ฯ
3. กรียตีติ กมฺมํ.(กร กรเณ ในการกระทำ+  รมฺม ปัจจัย) ถูกกระทำ ชื่อว่า กมฺม.ฯ
4. ติฏฺฐติ เอตถาติ ฐานํ ( ฐา คตินิวตฺติยํ ในการห้ามการไป + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ> อน) ตั้งอยู่ที่นั้น ชื่อว่า ฐาน.
*สำเร็จรูปเป็น สมถกมฺมฐาน.....

สมถกรรมฐานคือกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ได้แก่การปฏิบัติธรรมด้วยการบริกรรม เป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยใช้สมาธิเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับการใช้ปัญญาและ มุ่งให้จิตสงบ ระงับจากนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวขัดขวางจิตไม่ให้บรรลุความดีเป็นสำคัญ
สมถกรรมฐานเป็นอุบายวิธีที่หยุดความฟุ้งซ่านแห่งจิตซึ่งมักจะฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ กล่าวคือ หยุดความคิดของจิตไว้ โดยใช้สมาธิยึดดึงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน40กองมาบริกรรมจนกระทั่งจิตแนบแน่นในอารมณ์นั้น และสงบระงับไม่ฟุ้งซ่านต่อไป
สมถกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่มุ่งบริหารจิตเป็นหลัก คู่กับ วิปัสสนากรรมฐาน ที่มุ่งการอบรมปัญญาเป็นหลัก
---------------------------
#สมถกรรมฐาน ได้แก่การฝึกจิตให้มีสมาธิ ความสงบ ความมีจิตใจแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
สมถกรรมฐานมีอารมณ์(สิ่งที่จิตใจเข้าไปยึดไว้) มี๗ หมวด ๔๐ อย่างคือ
๑. กสิณ คือวัตถุอันจูงใจให้เกิดสมาธิ มี๑๐อย่าง
๒. อสุภะ คือสภาพที่ไม่งามในที่นี้หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ มี ๑๐ อย่าง
๓. อนุสติ ได้แก่อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆมี ๑๐ อย่าง
๔. พรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี ๔ อย่าง
๕. อรูปฌาน คือฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ อย่าง
๖. อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูลมี ๑ อย่าง
๗. จตุธาตุววัตถาน คือการกำหนดธาตุสี่ ได้แก่พิจารณาแยกแยะร่างกายออกให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ
ที่จัดเข้าในธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

วิธีปฏิบัติสมถกรรมฐาน คือการนำเอาอารมณ์เพียง ๑ อย่างใน ๔๐ อย่างที่เหมาะสมกับจริตของตนมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติเช่น อานาปานสติ.. เป็นต้น
---------------------------
[354] กรรมฐาน 40 (ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต — mental exercises; subjects of meditation)
1. กสิณ 10 ดู [315]
315] กสิณ 10 (วัตถุอันจูงใจ, วัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ — meditation devices)
ก. ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป —Element-Kasina)
1. ปฐวีกสิณ (กสิณคือดิน, กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์ — the Earth Kasina)
2. อาโปกสิณ (กสิณคือน้ำ — the Water Kasina)
3. เตโชกสิณ (กสิณคือไฟ — the Fire Kasina)
4. วาโยกสิณ (กสิณคือลม — the Air Kasina: Wind Kasina)
ข. วรรณกสิณ 4 (กสิณคือสี — Color Kasina)
5. นีลกสิณ (กสิณคือสีเขียว — the Blue Kasina)
6. ปีตกสิณ (กสิณคือสีเหลือง — the Yellow Kasina)
7. โลหิตกสิณ (กสิณคือสีแดง — the Red Kasina)
8. โอทาตกสิณ (กสิณคือสีขาว — the White Kasina)
ค. กสิณอื่นๆ
9. อาโลกกสิณ (กสิณคือแสงสว่าง — the Light Kasina)
10. อากาสกสิณ (กสิณคือที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง — the Space Kasina)
กสิณที่มาในบาลี เช่น องฺ.ทสก. 24/25/48 (A.V. 46) ไม่มีอาโลกกสิณแต่มีวิญญาณกสิณ (กสิณคือวิญญาณ -- the Consciousness Kasina) เป็นข้อที่ 10 และอากาสกสิณ เป็นข้อที่ 9
Vism.118-169. วิสุทธิ. 1/150-217.
2. อสุภะ 10 ดู [336]
336] อสุภะ 10 (สภาพอันไม่งาม, ซากศพในสภาพต่างๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์แห่งสมถกรรมฐาน — ten kinds of foulness; corpses at different stages of decay)
1. อุทธุมาตกะ (ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด — bloated corpse; swollen-up corpse)
2. วินีลกะ (ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ— bluish discolored corpse; livid corpse)
3. วิปุพพกะ (ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก — festering corpse)
4. วิจฉิททกะ (ซากศพที่ขาดจากกันเป็น 2 ท่อน — split or cut up corpse; disjoint corpse)
5. วิกขายิตกะ (ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น แร้ง กา สุนัข จิกทึ้งกัดกินแล้ว — gnawed corpse)
6. วิกขิตตกะ (ซากศพที่กระจุยกระจาย มือเท้าศีรษะหลุดออกไปข้างๆ — scattered corpse; mangled corpse)
7. หตวิกขิตตกะ (ซากศพที่ถูกสับฟันบั่นเป็นท่อนๆ กระจายออกไป — hacked and scattered corpse; mutilated and mangled corpse)
8. โลหิตกะ (ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบเรี่ยราดอยู่ — blood-stained corpse; bleeding corpse)
9. ปุฬุวกะ (ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด — worm-infested corpse)
10. อัฏฐิกะ (ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน — skeleton)
ดู [354] กรรมฐาน 40. Vism.178. วิสุทธิ. 1/226.
3. อนุสติ 10 ดู [335]
[335] อนุสติ 10 (ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ — recollection; constant mindfulness)
1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)
2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues the Doctrine)
3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)
4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย — recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — recollection on liberality; contemplation on one’s own liberality)
6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — mindfulness of death; contemplation on death)
8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness on breathing)
10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbana)
A.I.30, 41; Vism.197. องฺ.เอก. 20/179-180/39-40; 224/54; วิสุทธิ. 1/251.
4. อัปปมัญญา 4 ดู [161]
[161] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)
*****
ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)
พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.
อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
1. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง
ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
3. มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
4. อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร
ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
1. เมตตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
2. กรุณา: สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
3. มุทิตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
4. อุเบกขา: สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)
ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป
1. เมตตา: ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
2. กรุณา: ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
3. มุทิตา: ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
4. อุเบกขา: ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ
จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู
พึงทราบด้วยว่า
ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้
การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น
D.II.196; D.III.220; Dhs.262; Vism.320. ที.ม. 10/184/225; ที.ปา. 11/228/232; อภิ.สํ. 34/190/75; 
วิสุทธิ. 2/124
5. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร — perception of the loathsomeness of food)
6. จตุธาตุวัฏฐาน (กำหนดพิจารณาธาตุ 4, พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ; ธาตุมนสิการ ก็เรียก — analysis of the four elements)
7. อรูป 4 ดู [207]
[207] อรูป หรือ อารุปป์ 4 (ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ คืออรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม - absorptions of the Formless Sphere; the Formless Spheres; immaterial states)
1. อากาสานัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of space)
2. วิญญาณัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of consciousness)
3. อากิญจัญญายตนะ (ฌานอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of nothingness)
4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of neither perception nor non-perception)
D.III.224; S.IV.227. ที.ปา. 11/235/235; สํ.สฬ. 18/519/326.
-------------------------------
กรรมฐานใดให้ได้สมาธิถึงขั้นใด ดู [99]
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุวัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)
----------------
กรรมฐานใดเหมาะกับจริตใด ดู [262]
262] จริต หรือ จริยา 6 (ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน — intrinsic nature of a person; characteristic behavior; character; temperament)
ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต
1. ราคจริต (ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม — one of lustful temperament) กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ
2. โทสจริต (ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด — one of hating temperament) กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ
3. โมหจริต (ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย — one of deluded temperament) กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาลหรืออยู่กับครู
4. สัทธาจริต (ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย — one of faithful temperament) พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ 6 ข้อต้น
5. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต (ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา — one of intelligent temperament)
6. วิตกจริต (ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน — one of speculative temperament) พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น
Ndi 359,453; Ndii 138; Vism.101 ขุ.ม. 29/727/435; 889/555; ขุ.จู. 30/492/242; วิสุทธิ. 1/127.

--------------------------
*อ้างอิง
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พ.ศ.2554