ภาษาบาฬี สำคัญอย่างไร?
ความสำคัญของภาษาที่ใช้บันทึกคำสอน..
ภาษาบาฬีสำคัญอย่างไร ?
บาฬี เป็นชื่อเรียกพระไตรปิฎกโดยตรง และเป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ดังนั้น ภาษาบาฬีจึงเป็นภาษาสากลของนานาชาติ การพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาฬี ทำให้สามารถเผยแผ่พระธัมม์คำสอนไปในดินแดนต่างๆ ทั่วโลกได้ นอกจากนี้ภาษาบาฬีไม่มีอักษรของตน เพราะภาษาบาฬีสามารถใช้อักษรของชาติต่างๆ เขียนภาษาบาฬีได้ เช่น ภาษาบาฬีอักษรสิงหล (ศรีลังกา) ภาษาบาฬีอักษรขอม (ใช้ในสมัยไทยโบราณ) ภาษาบาฬีอักษรสยาม (ไทยสมัย ร. 5) หรือ ภาษาบาฬีอักษรโรมัน (สากล) เป็นต้น
เนื่องจากภาษาบาฬีเป็นภาษาสากลที่ชาวโลกในนานาประเทศสามารถอ่านออกเสียงสวดภาษาบาฬีได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากพระสงฆ์เถรวาททั่วโลกเมื่ออ่านหรือเขียนด้วยอักษรโรมันย่อมออกเสียงสวดมนต์ได้เป็นเสียงเดียวกัน การจัดพิมพ์เป็นอักษรโรมันครั้งนี้จึงเป็นการจัดพิมพ์เป็นอักษรสากลที่ทำให้ชาติต่างๆ สามารถอ่านภาษาบาฬีในพระไตรปิฎกได้แพร่หลายยิ่งขึ้น พระไตรปิฎกสากลฉบับนี้จะเป็นต้นฉบับที่จะสามารถแปลเป็นภาษาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและแพร่หลายไปในโลก
**ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่ต้องเรียนพระบาฬี**
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันปรินิพพานพระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดให้เป็นศาสดาสืบต่อจากพระองค์ นอกจากจะทรงประทานพุทธพจน์ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของพระองค์ไว้ว่า พระธรรมและวินัยที่มีเราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว นี่แสดงว่าในสมัยพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้นยังไม่มีพระไตรปิฎกบันทึกคำสอน
ดังที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบัน พุทธวจนะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกกันในสมัยนั้น 2 อย่าง คือ
1.พฺรหฺมจริย ดังพุทธวจน์ที่ตรัสเมื่อครั้งทรงส่งพระอรหันตสาวก 60 รูป ไปเผยแผ่พระศาสนาครั้งแรกว่าจรถภิกฺขเว, จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย, อตฺถาย หิตาย สุขาย, เทวมนุสฺสานํ เทเสตุ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํพฺรหฺมจริยํ ปกาเสสิฯ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายพวกเธอจงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะ อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง[1]
2.ธมฺมวินเย (ธรรมวินัย)ดังพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ พุทธอนุชา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต. โส โว มมจฺจเยนฯ ดูกรอานนท์ ธรรมและวินัยใดที่ตถาคตแสดงไว้แล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว[2]
ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการแบ่งพระพุทธวจนะไว้เป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน ยังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฏก” หากแต่เรียกว่า “ธรรมวินัย” การจัดหลักธรรมคำสอนเป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระบบหมวดหมู่ที่เรียกว่า
“การทำสังคายนาพระไตรปิฎก ประกอบด้วยคัมภีร์สำคัญ 3 ปิฎก คือ
1.พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย หรือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม และการดำเนินการต่าง ๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์
2.พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระสูตร หรือเทศนาที่ตรัสแก่บุคคลต่าง ๆ ในเวลาและสถานที่ต่างกัน เป็นรูปคำสนทนาโต้ตอบบ้าง เป็นรูปร้อยกรองบ้าง ร้อยแก้วบ้าง ร้อยแก้วผสมร้อยกรองบ้าง ตลอดถึงเทศนาของพระสาวกองค์สำคัญ
3.พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยหลักธรรมต่าง ๆ ที่อธิบายในแง่วิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล หรือเหตุการณ์ ส่วนมากเป็นคำสอนด้านจิตวิทยา และอภิปรัชญาในพระพุทธศาสนา
เนื้อความทั้งหมดของพระไตรปิฎกจัดแบ่งเป็นหมวด ๆ หรือ ขันธ์ มีจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น
พระวินัยปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์
พระสุตตันตปิฎก 21,000 พระธรรมขันธ์
และพระอภิธรรมปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์[3]
ความสำคัญของพระไตรปิฎกคือเป็นคัมภีร์ที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและยังมีคัมภีร์อื่นๆที่ช่วยอธิบายขยายความพระพุทธพจน์
**แบ่งลำดับชั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไว้ดังนี้
1. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี (Pali)เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา (มุขปาฐะ) เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎก คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่า คัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่า บาลีพุทธวจนะ (Canon)
2. อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries) คือคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น 2 ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก บางอรรถกถาอธิบายความโดยรวมทั้งหมด บางอรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎกเพียงบางส่วน
3. ฎีกา (Sub-commentaries) คือคัมภีร์ที่อธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้น 3
4. อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) คือคัมภีร์ที่อธิบายฎีกา เป็นหลักฐานชั้น 4 เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น
5.สัททาวิเสส คือ กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์บาลีที่ว่าด้วยหลักภาษาในพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์พื้นฐาน แห่งความเข้าใจในภาษาบาลีตลอดจนการเรียนรู้และวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมในพระ ไตรปิฎก ปัจจุบันในหอสมุดแห่งชาติมีบัญชีรายชื่อกลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส 153 คัมภีร์ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่แต่งในลังกา พม่าและไทย สำหรับในประเทศพม่ามีรายชื่อคัมภีร์สัททาวิเสสแต่งขึ้นเฉพาะในพม่าเป็นภาษาบาลีอย่างเดียวจำนวน 134 คัมภีร์ ความจริงชื่อว่าสัททาวิเสสหมายความถึงกลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นหลักแต่ยังมี คัมภีร์อื่นที่ว่าด้วยหลักภาษาซึ่งไม่จำกัดไวยากรณ์ เมื่อกลุ่มคัมภีร์ทั้งหมดที่เป็นอุปการะในการศึกษาพระไตรปิฎก อาจแบ่งได้เป็น 4 ประการ[4] คือ
1.กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์ คือคัมภีร์แสดงหลักภาษา เช่น กัจจายนไวยากรณ์ โมคคัลลานไวยากรณ์ สัททนีติปกรณ์ เป็นต้น
2.กลุ่มคัมภีร์นิฆัณฑุ คือคัมภีร์ประเภทพจนานุกรมศัพท์ เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คัมภีร์เอกักขรโกศ เป็นต้น
3.กลุ่มคัมภีร์ฉันทลักษณ์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบในการวางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ เช่น คัมภีร์วุตโตทัย คัมภีรฉันโทมัญชรี เป็นต้น
4.กลุ่มคัมภีร์เกฏภะ คือ คัมภีร์ว่าด้วยการตกแต่งเสียงและความหมายให้ภาษามีความไพเราะ เช่น คัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นต้น
**หลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ได้ยึดแบบที่สมเด็จพระมหา สมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส นับแต่ พ.ศ. 2463 ที่ทรงโปรดให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาษาบาลี โปรดให้เรียนหลักบาลีไวยากรณ์ที่ทรงรจนาขึ้นใหม่แทนการเรียน มูลกัจจายน์ ตั้งกองบาลีสนามหลวงขึ้นรับผิดชอบ จัดการศึกษาบาลีเป็นระบบเปรียญธรรม(ป.ธ.) จัดการศึกษาเป็น 9 ชั้นหรือเปรียญธรรม 9 ประโยค มีวิชาบาลีไวยากรณ์เป็นพื้นฐานจากนั้นจึงเรียนวิชาแปลภาษามคธเป็นไทย และแปลภาษาไทยเป็นภาษามคธ [5] กำหนดให้นักเรียนปริยัติธรรมแผนกบาลีทุกระดับชั้นแปลสอบสนามหลวง เพียงแต่ใช้หนังสือและวิธีสอบต่างกันการศึกษาบาลีเพื่อการค้นคว้าบทบาลีในพระไตรปิฎกนั้น จะต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหลักไวยากรณ์บาลี ในหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ แบ่งเป็น 4 ภาค[6] คือ
ภาคที่ 1 อักขรวิธีว่าด้วยอักษรแบ่งเป็น 2 คือ สมัญญาภิธาน แสดงเรื่องชื่ออักษร สระ พยัญชนะ ฐานกรณ์ เป็นต้น สนธิ ว่าด้วยการเชื่อมอักษร สระ พยัญชนะ นิคคหิต
ภาคที่ 2 วจีวิภาคว่าด้วยชนิดของคำ 6 ชนิด คือ นามศัพท์ อัพยยศัพท์ อาขยาต กิตก์ สมาส ตัทธิต
ภาคที่ 3 วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการเชื่อมบทแต่ละคำในประโยค หรือ หน้าที่ของบทในประโยคบาลี
ภาคที่ 4 ฉันทลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะคำประพันธ์ที่กำหนดครุ ลหุ มาตราใน ฉันทลักษณ์
เมื่อจัดลำดับความสำคัญในการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะสงฆ์กำหนดให้ผู้เข้าเรียนใหม่ จะต้องเรียนวิชาบาลีไวยากรณ์ คือ ภาคที่ 1 และภาคที่ 2 ในระดับชั้นเปรียญธรรมประโยค 1-2 และ ป.ธ. 3 จะเห็นได้ว่าการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยเป็นการยากที่จะเข้าใจพระไตรปิฏก ซึ่งเป็นธรรมะที่ละเอียด ลึกซึ้งที่ถ่ายทอดผ่านภาษาบาลี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาคัมภร์เพิ่มเติมเป็นต้นว่าสัททาวิเสสและกลุ่มคัมภีร์อื่นเพื่อการศึกษาบาลีในพระไตรปิฎก ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้กำหนดหัวข้อเรื่องการกซึ่งอยู่ในวากยสัมพันธ์และคัมภีร์ปทวิจาร เพราะเป็นชนิดของคำที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก และหากมีการวิเคราะห์ผิดหรือใช้หลักไวยากรณ์การกผิดประเภท ก็จะทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไป ดังนั้นจึงต้องมีหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยการกหรือการสัมพันธ์ในประโยค ฯลฯ
[1]วิ.ม. (ไทย) 4/32/40.
[2]ที.ม. (ไทย) 10/141/178.
[3] พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่16,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2554), หน้า143.
[4] พระญาณาลังการเถระ, ปทวิจาร, (กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่ หจก.ไทยรายวันการพิมพ์ บางขุนเทียน จอมทอง, 2547), หน้า(4)-(7).
[5] แม่กองบาลีสนามหลวง. เรื่องสอบบาลีของสนามหลวงแผนกบาลี พ.ศ.2550, (กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์,2550), หน้า 277.
[6] สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, บาลีไวยากรณ์, พิมพ์ครั้งที่37, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2538), หน้า5.
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/207562
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น