วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สมถกรรมฐาน



สมถกรรมฐาน 

มาจากพระบาฬีว่า สมถกมฺมฏฺฐาน = สมถ+กมฺมฐาน
รูปวิเคราะห์/วจนัตถะ
 1. กิเลโส สเมตีติ สมโถ.(สมุ อุปสเม ในความสงบ +  ถ ปัจจัย) ทำกิเลส มีกามฉันทนวรณ์เป็นต้น ให้สงบ ชื่อว่า สมถ.
2.จิตฺตํ สเมตีติ สมโถ.(สมุ อุปสเม ในความสงบ +  ถ ปัจจัย) ยังจิตให้สงบ ชื่อว่า สมถ.ฯ
3. กรียตีติ กมฺมํ.(กร กรเณ ในการกระทำ+  รมฺม ปัจจัย) ถูกกระทำ ชื่อว่า กมฺม.ฯ
4. ติฏฺฐติ เอตถาติ ฐานํ ( ฐา คตินิวตฺติยํ ในการห้ามการไป + ยุ ปัจจัย แปลง ยุ> อน) ตั้งอยู่ที่นั้น ชื่อว่า ฐาน.
*สำเร็จรูปเป็น สมถกมฺมฐาน.....

สมถกรรมฐานคือกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ได้แก่การปฏิบัติธรรมด้วยการบริกรรม เป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิตโดยใช้สมาธิเป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับการใช้ปัญญาและ มุ่งให้จิตสงบ ระงับจากนิวรณ์ซึ่งเป็นตัวขัดขวางจิตไม่ให้บรรลุความดีเป็นสำคัญ
สมถกรรมฐานเป็นอุบายวิธีที่หยุดความฟุ้งซ่านแห่งจิตซึ่งมักจะฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ กล่าวคือ หยุดความคิดของจิตไว้ โดยใช้สมาธิยึดดึงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน40กองมาบริกรรมจนกระทั่งจิตแนบแน่นในอารมณ์นั้น และสงบระงับไม่ฟุ้งซ่านต่อไป
สมถกรรมฐานเป็นกรรมฐานที่มุ่งบริหารจิตเป็นหลัก คู่กับ วิปัสสนากรรมฐาน ที่มุ่งการอบรมปัญญาเป็นหลัก
---------------------------
#สมถกรรมฐาน ได้แก่การฝึกจิตให้มีสมาธิ ความสงบ ความมีจิตใจแน่วแน่อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
สมถกรรมฐานมีอารมณ์(สิ่งที่จิตใจเข้าไปยึดไว้) มี๗ หมวด ๔๐ อย่างคือ
๑. กสิณ คือวัตถุอันจูงใจให้เกิดสมาธิ มี๑๐อย่าง
๒. อสุภะ คือสภาพที่ไม่งามในที่นี้หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ มี ๑๐ อย่าง
๓. อนุสติ ได้แก่อารมณ์ที่ควรระลึกถึงเนืองๆมี ๑๐ อย่าง
๔. พรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดียิ่งใหญ่ มี ๔ อย่าง
๕. อรูปฌาน คือฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ อย่าง
๖. อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือความสำคัญหมายในอาหารว่าเป็นของปฏิกูลมี ๑ อย่าง
๗. จตุธาตุววัตถาน คือการกำหนดธาตุสี่ ได้แก่พิจารณาแยกแยะร่างกายออกให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ
ที่จัดเข้าในธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

วิธีปฏิบัติสมถกรรมฐาน คือการนำเอาอารมณ์เพียง ๑ อย่างใน ๔๐ อย่างที่เหมาะสมกับจริตของตนมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติเช่น อานาปานสติ.. เป็นต้น
---------------------------
[354] กรรมฐาน 40 (ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต — mental exercises; subjects of meditation)
1. กสิณ 10 ดู [315]
315] กสิณ 10 (วัตถุอันจูงใจ, วัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ — meditation devices)
ก. ภูตกสิณ 4 (กสิณคือมหาภูตรูป —Element-Kasina)
1. ปฐวีกสิณ (กสิณคือดิน, กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์ — the Earth Kasina)
2. อาโปกสิณ (กสิณคือน้ำ — the Water Kasina)
3. เตโชกสิณ (กสิณคือไฟ — the Fire Kasina)
4. วาโยกสิณ (กสิณคือลม — the Air Kasina: Wind Kasina)
ข. วรรณกสิณ 4 (กสิณคือสี — Color Kasina)
5. นีลกสิณ (กสิณคือสีเขียว — the Blue Kasina)
6. ปีตกสิณ (กสิณคือสีเหลือง — the Yellow Kasina)
7. โลหิตกสิณ (กสิณคือสีแดง — the Red Kasina)
8. โอทาตกสิณ (กสิณคือสีขาว — the White Kasina)
ค. กสิณอื่นๆ
9. อาโลกกสิณ (กสิณคือแสงสว่าง — the Light Kasina)
10. อากาสกสิณ (กสิณคือที่ว่างเปล่า, ช่องว่าง — the Space Kasina)
กสิณที่มาในบาลี เช่น องฺ.ทสก. 24/25/48 (A.V. 46) ไม่มีอาโลกกสิณแต่มีวิญญาณกสิณ (กสิณคือวิญญาณ -- the Consciousness Kasina) เป็นข้อที่ 10 และอากาสกสิณ เป็นข้อที่ 9
Vism.118-169. วิสุทธิ. 1/150-217.
2. อสุภะ 10 ดู [336]
336] อสุภะ 10 (สภาพอันไม่งาม, ซากศพในสภาพต่างๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์แห่งสมถกรรมฐาน — ten kinds of foulness; corpses at different stages of decay)
1. อุทธุมาตกะ (ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด — bloated corpse; swollen-up corpse)
2. วินีลกะ (ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ— bluish discolored corpse; livid corpse)
3. วิปุพพกะ (ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก — festering corpse)
4. วิจฉิททกะ (ซากศพที่ขาดจากกันเป็น 2 ท่อน — split or cut up corpse; disjoint corpse)
5. วิกขายิตกะ (ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่น แร้ง กา สุนัข จิกทึ้งกัดกินแล้ว — gnawed corpse)
6. วิกขิตตกะ (ซากศพที่กระจุยกระจาย มือเท้าศีรษะหลุดออกไปข้างๆ — scattered corpse; mangled corpse)
7. หตวิกขิตตกะ (ซากศพที่ถูกสับฟันบั่นเป็นท่อนๆ กระจายออกไป — hacked and scattered corpse; mutilated and mangled corpse)
8. โลหิตกะ (ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบเรี่ยราดอยู่ — blood-stained corpse; bleeding corpse)
9. ปุฬุวกะ (ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด — worm-infested corpse)
10. อัฏฐิกะ (ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือกระดูกท่อน — skeleton)
ดู [354] กรรมฐาน 40. Vism.178. วิสุทธิ. 1/226.
3. อนุสติ 10 ดู [335]
[335] อนุสติ 10 (ความระลึกถึง, อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ — recollection; constant mindfulness)
1. พุทธานุสติ (ระลึกถึงพระพุทธเจ้า คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์ — recollection of the Buddha; contemplation on the virtues of the Buddha)
2. ธัมมานุสติ (ระลึกถึงพระธรรม คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม — recollection of the Dhamma; contemplation on the virtues the Doctrine)
3. สังฆานุสติ (ระลึกถึงพระสงฆ์ คือ น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์ — recollection of the Sangha; contemplation on the virtues of the Order)
4. สีลานุสติ (ระลึกถึงศีล คือ น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย — recollection of morality; contemplation on one’s own morals)
5. จาคานุสติ (ระลึกถึงการบริจาค คือ น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรมคือความเผื่อแผ่เสียสละนี้ที่มีในตน — recollection on liberality; contemplation on one’s own liberality)
6. เทวตานุสติ (ระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน — recollection of deities; contemplation on the virtues which make people become gods as can be found in oneself)
7. มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — mindfulness of death; contemplation on death)
8. กายคตาสติ (สติอันไปในกาย คือ กำหนดพิจารณากายนี้ ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา — mindfulness occupied with the body; contemplation on the 32 impure parts of the body)
9. อานาปานสติ (สติกำหนดลมหายใจเข้าออก — mindfulness on breathing)
10. อุปสมานุสติ (ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือ ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์ — recollection of peace; contemplation on the virtue of Nibbana)
A.I.30, 41; Vism.197. องฺ.เอก. 20/179-180/39-40; 224/54; วิสุทธิ. 1/251.
4. อัปปมัญญา 4 ดู [161]
[161] พรหมวิหาร 4 (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบ - holy abidings; sublime states of mind)
1. เมตตา (ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า - loving-kindness; friendliness; goodwill)
2. กรุณา (ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์ - compassion)
3. มุทิตา (ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป - sympathetic joy; altruistic joy)
4. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้งรู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน - equanimity; neutrality; poise)
*****
ผู้ดำรงในพรหมวิหาร ย่อมช่วยเหลือมนุษย์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตากรุณา และย่อมรักษาธรรมไว้ได้ด้วยอุเบกขา ดังนั้น แม้จะมีกรุณาที่จะช่วยเหลือปวงสัตว์แต่ก็ต้องมีอุเบกขาด้วยที่จะมิให้เสียธรรม
พรหมวิหารนี้ บางทีแปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม, ธรรมเครื่องอยู่อย่างพรหม, ธรรมประจำใจที่ทำให้เป็นพรหมหรือให้เสมอด้วยพรหม, หรือธรรมเครื่องอยู่ของท่านผู้มีคุณยิ่งใหญ่ - (abidings of the Great Ones)
พรหมวิหาร 4 เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา 4 (unbounded states of mind; illimitables) เพราะแผ่สม่ำเสมอโดยทั่วไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย ไม่มีประมาณ ไม่จำกัดขอบเขต
พรหมวิหารมีในผู้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น.
อนึ่ง ในการที่จะเข้าใจและปฏิบัติพรหมวิหาร 4 ให้ถูกต้อง พึงทราบรายละเอียดบางอย่าง โดยเฉพาะสมบัติและวิบัติของธรรม 4 ประการนั้น ดังนี้
ก. ความหมายโดยวิเคราะห์ศัพท์
1. เมตตา = (มีน้ำใจ)เยื่อใยใฝ่ประโยชน์สุขแก่คนทั้งหลาย หรือน้ำใจปรารถนาประโยชน์สุขที่เป็นไปต่อมิตร
2. กรุณา = ทำความสะเทือนใจแก่สาธุชน เมื่อคนอื่นประสบทุกข์ หรือถ่ายถอนทำทุกข์ของผู้อื่นให้หมดไป หรือแผ่ใจไปรับรู้ต่อคนสัตว์ทั้งหลายที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา = โมทนายินดีต่อผู้ประกอบด้วยสมบัติหรือผลดีนั้นๆ
4. อุเบกขา = คอยมองดูอยู่ โดยละความขวนขวายว่า สัตว์ทั้งหลายจงอย่าผูกเวรกัน เป็นต้น และโดยเข้าถึงความเป็นกลาง
ข. ลักษณะ หน้าที่หรือกิจ (รส) ผลปรากฏ (ปัจจุปัฏฐาน) และปทัสถาน (เหตุใกล้)
1. เมตตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นอยู่เป็นปกติ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเกื้อกูลแก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = น้อมนำประโยชน์เข้าไปให้แก่เขา
ผลปรากฏ = กำจัดความอาฆาตแค้นเคืองให้ปราศไป
ปทัสถาน = เห็นภาวะที่น่าเจริญใจของคนสัตว์ทั้งหลาย
2. กรุณา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นตกทุกข์เดือดร้อน)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการปลดเปลื้องทุกข์แก่คนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = ไม่นิ่งดูดาย/ทนนิ่งอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ไม่เบียดเบียน/อวิหิงสา
ปทัสถาน = เห็นภาวะไร้ที่พึ่ง/สภาพน่าอนาถของคนสัตว์ทั้งหลายที่ถูกทุกข์ครอบงำ
3. มุทิตา = (ในสถานการณ์ที่คนอื่นมีสุขสำเร็จหรือทำอะไรก้าวไปด้วยดี)
ลักษณะ = พลอยยินดี/ยินดีด้วย
หน้าที่ = ไม่ริษยา/เป็นปฏิปักษ์ต่อความริษยา
ผลปรากฏ = ขจัดความริษยา ความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสุขสำเร็จของผู้อื่น
ปทัสถาน = เห็นสมบัติ/ความสำเร็จของคนสัตว์ทั้งหลาย
4. อุเบกขา = (ในสถานการณ์รักษาธรรมตามความรับผิดชอบต่อกรรมที่เขาทำ)
ลักษณะ = เป็นไปโดยอาการเป็นกลางต่อคนสัตว์ทั้งหลาย
หน้าที่ = มองเห็นความเสมอภาคกันในคนสัตว์ทั้งหลาย
ผลปรากฏ = ระงับความขัดเคืองเสียใจและความคล้อยตามดีใจ
ปทัสถาน = มองเห็นภาวะที่ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมของตนว่า สัตว์ทั้งหลายจักได้สุข พ้นทุกข์ ไม่เสื่อมจากสมบัติที่ได้ที่ถึง ตามใจชอบได้อย่างไร
ค. สมบัติ (ความสมบูรณ์หรือความสัมฤทธิ์ผล) และวิบัติ (ความล้มเหลว หรือการปฏิบัติผิดพลาด ไม่สำเร็จผล)
1. เมตตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความแค้นเคืองไม่พอใจ
วิบัติ = เกิดเสน่หา
2. กรุณา: สมบัติ = สงบหายไร้วิหิงสา
วิบัติ = เกิดความโศกเศร้า
3. มุทิตา: สมบัติ = สงบหายไร้ความริษยา
วิบัติ = เกิดความสนุกสนาน
4. อุเบกขา: สมบัติ = สงบหายไม่มีความยินดียินร้าย
วิบัติ = เกิดความเกิดความเฉยด้วยไม่รู้ (เฉยโง่ เฉยเมย เฉยเมิน)
ง. ข้าศึก คือ อกุศลซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับที่จะทำลายหรือทำธรรมนั้นๆ ให้เสียไป
1. เมตตา: ข้าศึกใกล้ = ราคะ
ข้าศึกไกล = พยาบาท คือความขัดเคืองไม่พอใจ
2. กรุณา: ข้าศึกใกล้ = โทมนัส คือความโศกเศร้าเสียใจ
ข้าศึกไกล = วิหิงสา
3. มุทิตา: ข้าศึกใกล้ = โสมนัส (เช่น ดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์)
ข้าศึกไกล = อรติ คือความไม่ยินดี ไม่ใยดี ริษยา
4. อุเบกขา: ข้าศึกใกล้ = อัญญาณุเบกขา (เฉยไม่รู้เรื่อง เฉยโง่ เฉยเมย)
ข้าศึกไกล = ราคะ (ความใคร่) และปฏิฆะ (ความเคือง) หรือชอบใจและขัดใจ
จ. ตัวอย่างมาตรฐาน ที่แสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
1. เมื่อลูกยังเล็กเป็นเด็กเยาว์วัย
แม่ - เมตตา รักใคร่เอาใจใส่ ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
2. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
แม่ - กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
3. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
แม่ - มุทิตา พลอยปลาบปลื้มใจ หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
4. เมื่อลูกรับผิดชอบกิจหน้าที่ของตนขวนขวายอยู่ด้วยดี
แม่ - อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู
พึงทราบด้วยว่า
ฉันทะ คือ กัตตุกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนสัตว์ทั้งหลายดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง เช่น อยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์เป็นต้น) เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง 4 นี้
การข่มระงับกิเลส (เช่นนิวรณ์) ได้ เป็นท่ามกลาง
สมาธิถึงขั้นอัปปนา (คือ ภาวะจิตที่มั่นคงเรียบรื่นสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง 4 นั้น
D.II.196; D.III.220; Dhs.262; Vism.320. ที.ม. 10/184/225; ที.ปา. 11/228/232; อภิ.สํ. 34/190/75; 
วิสุทธิ. 2/124
5. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร — perception of the loathsomeness of food)
6. จตุธาตุวัฏฐาน (กำหนดพิจารณาธาตุ 4, พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ; ธาตุมนสิการ ก็เรียก — analysis of the four elements)
7. อรูป 4 ดู [207]
[207] อรูป หรือ อารุปป์ 4 (ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ คืออรูปฌาน, ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน, ภพของอรูปพรหม - absorptions of the Formless Sphere; the Formless Spheres; immaterial states)
1. อากาสานัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดอากาศคือช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of space)
2. วิญญาณัญจายตนะ (ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of infinity of consciousness)
3. อากิญจัญญายตนะ (ฌานอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of nothingness)
4. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หรือภพของผู้เข้าถึงฌานนี้ - sphere of neither perception nor non-perception)
D.III.224; S.IV.227. ที.ปา. 11/235/235; สํ.สฬ. 18/519/326.
-------------------------------
กรรมฐานใดให้ได้สมาธิถึงขั้นใด ดู [99]
[99] ภาวนา 3 (การเจริญ หมายถึงการเจริญกรรมฐานหรือฝึกสมาธิขั้นต่างๆ — stages of mental culture)
1. บริกรรมภาวนา (ภาวนาขั้นบริกรรม, ฝึกสมาธิขั้นตระเตรียม ได้แก่ การถือเอานิมิตในสิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจเป็นต้น กล่าวสั้นๆ คือ การกำหนดบริกรรมนิมิตนั่นเอง — preliminary stage) ได้ในกรรมฐานทั้ง 40
2. อุปจารภาวนา (ภาวนาขั้นจวนเจียน, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอุปจาร ได้แก่ เจริญกรรมฐานต่อไป ถึงขณะที่ปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นในกรรมฐานที่เพ่งวัตถุก็ดี นิวรณ์สงบไปในกรรมฐานประเภทนึกเป็นอารมณ์ก็ดี นับแต่ขณะนั้นไปจัดเป็นอุปจารภาวนา — proximate stage) ขั้นนี้เป็น กามาวจรสมาธิ ได้ในกรรมฐานทั้ง 40; อุปาจารภาวนา สิ้นสุดแค่โคตรภูขณะ ในฌานชวนะ
3. อัปปนาภาวนา (ภาวนาขั้นแน่วแน่, ฝึกสมาธิขั้นเป็นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ำเสมอด้วยอุปจารสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน คือ ถัดจากโคตรภูขณะในฌานชวนะเป็นต้นไป ต่อแต่นั้นเป็นอัปปนาภาวนา - concentrative or attainment stage) ขั้นนี้เป็นรูปาวจรสมาธิ ได้เฉพาะในกรรมฐาน 30 คือ หักอนุสสติ 8 ข้างต้น ปฏิกูลสัญญา 1 และจตุธาตุวัตถาน 1 ออกเสีย คงเหลือ อสุภะ 10 และกายคตาสติ 1 (ได้ถึงปฐมฌาน) อัปปมัญญา 3 ข้อต้น (ได้ถึงจตุตถฌาน) อัปปมัญญาข้อท้ายคืออุเบกขา 1 กสิณ 10 และ อานาปานสติ 1 (ได้ถึงปัญจมฌาน) อรูป 4 (ได้อรูปฌาน)
----------------
กรรมฐานใดเหมาะกับจริตใด ดู [262]
262] จริต หรือ จริยา 6 (ความประพฤติปกติ, ความประพฤติซึ่งหนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน, พื้นเพของจิต, อุปนิสัย, พื้นนิสัย, แบบหรือประเภทใหญ่ๆ แห่งพฤติกรรมของคน — intrinsic nature of a person; characteristic behavior; character; temperament)
ตัวความประพฤติเรียกว่า จริยา บุคคลผู้มีความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า จริต
1. ราคจริต (ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม — one of lustful temperament) กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้ คือ อสุภะและกายคตาสติ
2. โทสจริต (ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางใจร้อนหงุดหงิด — one of hating temperament) กรรมฐานที่เหมาะ คือ พรหมวิหารและกสิณ โดยเฉพาะวัณณกสิณ
3. โมหจริต (ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึมเงื่องงง งมงาย — one of deluded temperament) กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาลหรืออยู่กับครู
4. สัทธาจริต (ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย — one of faithful temperament) พึงชักนำไปในสิ่งที่ควรแก่ความลื่อมใส และความเชื่อที่มีเหตุผล เช่น พิจารณาอนุสติ 6 ข้อต้น
5. พุทธิจริต หรือ ญาณจริต (ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปในทางใช้ความคิดพิจารณา — one of intelligent temperament)
6. วิตกจริต (ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจดฟุ้งซ่าน — one of speculative temperament) พึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น
Ndi 359,453; Ndii 138; Vism.101 ขุ.ม. 29/727/435; 889/555; ขุ.จู. 30/492/242; วิสุทธิ. 1/127.

--------------------------
*อ้างอิง
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พ.ศ.2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น